LOLE คืออะไร ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้จริงหรือไม่

30 มีนาคม 2566

เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ หรือ LOLE คือเกณฑ์ใหม่ที่จะใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ทำไมไทยจึงต้องเปลี่ยนมาใช้หลักเกณฑ์นี้ ต่างกับเกณฑ์ Reserve Margin อย่างไร และ เป็นสาเหตุที่จะทำให้ค่าไฟแพงจริงหรือ

 "LOLE" คืออะไร ทำไมประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์นี้

เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE) คือ เกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยใช้หลักการความน่าจะเป็นที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละช่วงเวลาตลอด 1 ปี หรือค่าดัชนีที่แสดงถึงจำนวนวันในรอบ 1 ปี ที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมีค่าสูงกว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบผลิตไฟฟ้าในปีนั้น


ทั้งนี้ LOLE จะคำนวณจากผลรวมของค่า ความน่าจะเป็น ที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละชั่วโมงตลอด 1 ปี ซึ่งจะคำนึงถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและความเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก

 

โดยจะทำการจำลอง ความไม่แน่นอน ในการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และ ความต้องการใช้ไฟฟ้าผ่านข้อมูลสถิติที่ผ่านมาในอดีตเพื่อนำไปใช้วางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในอนาคต วิธีการวางแผนตามแนวทางดังกล่าวได้รับการยอมรับและนำมาใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523)

LOLE คืออะไร ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้จริงหรือไม่


ทำไมประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์นี้? 

เนื่องจากเกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) จะพิจารณาความสามารถ ในการผลิตไฟฟ้า และ ความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอดทุกช่วงเวลาซึ่งจะสะท้อนสมรรถนะการทำงานของระบบไฟฟ้าที่มีความหลากหลายของประเภทโรงไฟฟ้า และมีโรงไฟฟ้าที่กระจายศูนย์มากขึ้น (decentralized) รวมถึงมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ ที่มีความไม่แน่นอนในการผลิตในสัดส่วนที่สูงได้ดีกว่าเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)

 

เปิดข้อแตกต่าง ระหว่าง LOLE กับ Reserve Margin 

การคำนวณ Reserve Margin นั้นจะพิจารณาแค่จุดเวลา ที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) เท่านั้น โดยจะแสดงถึงปริมาณส่วนต่างของกำลังผลิตพึ่งได้ (Dependable Capacity) ของระบบผลิตกับ Peak Demand โดยคิดเป็นร้อยละเทียบกับ Peak Demand ซึ่งอาจไม่สะท้อนถึงคุณลักษณะของระบบตลอดทุกช่วงเวลา


ขณะที่การคำนวณดัชนี LOLE จะพิจารณาครอบคลุมพลังงานตลอดทุกช่วงเวลา โดยคำนวณจากผลรวมของค่าความน่าจะเป็น ที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละชั่วโมงตลอด 1 ปี โดยคิดออกมาเป็นค่าดัชนีที่แสดงถึงจำนวนวันหรือจำนวนชั่วโมงในรอบ 1 ปีที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมีค่าสูงกว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบผลิตไฟฟ้าในปีนั้น ซึ่งจะสะท้อนถึงคุณลักษณะของระบบตลอดทุกช่วงเวลา

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของ Reserve Margin คือ วิธีการคำนวณไม่ซับซ้อน เข้าใจได้ง่าย และสามารถสื่อสารให้สังคมเข้าใจง่าย แต่มีข้อด้อยคือไม่ได้พิจารณาความมั่นคงของระบบที่ครอบคลุมตลอดทุกช่วงเวลา การละเลยสมรรถนะการทำงานของโรงไฟฟ้า ความไม่แน่นอน จากผลการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต และความไม่แน่นอนในการจ่ายไฟฟ้าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแต่ละเครื่อง ดังนั้น Reserve Margin จึงเหมาะสมกับระบบไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นโรงฟอสซิล
 

ส่วนข้อดีของ LOLE คือ มีการพิจารณาความมั่นคง ของระบบที่ครอบคลุมตลอดทุกช่วงเวลา คำนึงถึงสมรรถนะการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและความเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟฟ้า

ข้อด้อยคือ วิธีการคำนวณที่ซับซ้อนและสื่อสารให้สังคมเข้าใจยาก ดังนั้น LOLE จึงเหมาะสมกับระบบไฟฟ้าในปัจจุบัน ที่มีความหลากหลายของประเภทโรงไฟฟ้า มีโรงไฟฟ้าที่กระจายศูนย์มากขึ้น (decentralized) รวมถึงมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ในสัดส่วนที่สูงขึ้น

LOLE คืออะไร ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้จริงหรือไม่

เกณฑ์ LOLE ของไทย ถูกกำหนดอย่างไร หากผลิตไฟฟ้าเกินหรือต่ำกว่าดัชนีที่ตั้งไว้ จะมีผลอย่างไรบ้าง 

 

ในการวางแผน PDP ฉบับใหม่ จะมีการนำเกณฑ์ LOLE ในระดับไม่เกิน 0.7 วันต่อปี มาใช้เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมาจากผลการศึกษาที่ สนพ. เคยว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2561

โดยตัวเลข 0.7 วันต่อปี ประเมินมาจากสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการศึกษาและแนวโน้มในอนาคต พิจารณาร่วมกับมูลค่าความเสียหายของผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อเกิดไฟฟ้าดับ (Outage Cost) จึงได้จุดที่มีความคุ้มค่าสูงที่สุด' คือ จุดที่กำหนดให้เกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 0.7 วันต่อปี

หากในการวางแผน แล้วทำให้ระบบผลิตไฟฟ้ามี LOLE เกิน 0.7 วันต่อปี หมายความว่าระบบไฟฟ้าจะมีมูลค่าความเสียหายของผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อเกิดไฟฟ้าดับ (Outage Cost) สูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสมของประเทศ ในขณะที่หากในการวางแผน แล้วทำให้ระบบผลิตไฟฟ้ามี LOLE ต่ำกว่า 0.7 วันต่อปีหมายความว่า ระบบไฟฟ้านั้นมีการลงทุน ก่อสร้างโรงไฟฟ้า เกินกว่าระดับที่เหมาะสม หรือ เกินความจำเป็นของประเทศ

ทั้งนี้ การใช้เกณฑ์ LOLE เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และหลายๆ ประเทศมีการใช้ LOLE เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เช่น ในหลายๆ รัฐของสหรัฐอเมริกา กำหนด LOLE ในระดับไม่เกิน 0.1 วันต่อปี เกาหลีใต้ กำหนด LOLE ในระดับไม่เกิน 0.3 วันต่อปี และ มาเลเซียกำหนด LOLE ในระดับไม่เกิน 1 วันต่อปี เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้เกณฑ์ LOLE ในการวางแผนจัดหาไฟฟ้าหรือ PDP จะทำให้ผลลัพธ์ของแผนการจัดหาไฟฟ้า สะท้อนความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบไฟฟ้า ที่มีความหลากหลายของประเภทโรงไฟฟ้า และ มีโรงไฟฟ้าที่กระจายศูนย์มากขึ้น (decentralized) รวมถึงมีปริมาณ การผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ ที่มีความไม่แน่นอนในการผลิตในสัดส่วนที่สูง

ดังนั้น หากประเทศไทยนำเกณฑ์ LOLE มาใช้ในการวางแผน จะส่งผลให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงทำให้มั่นใจได้ว่าประชาชนและภาคธุรกิจของประเทศจะมีไฟฟ้าใช้เพียงพอในระดับที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ

 

การมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve Margin ทำให้ค่าไฟแพงจริงหรือ ?

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve Margin ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเพิ่มค่าไฟสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงนั้น ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นมาจาก “ต้นทุนเชื้อเพลิง” ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและจากภาวะสงครามในปัจจุบัน บวกกับค่าเงินบาทไทยที่อ่อนลง จึงทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ปรับสูงขึ้น ซึ่งในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อผลิตไฟฟ้าสำรองคิดเป็นสัดส่วนเพียง 20 % ของต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น 
LOLE คืออะไร ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้จริงหรือไม่