เผาชีวมวลในที่โล่งพื้นที่การเกษตร ต้นตอฝุ่น PM2.5

04 มกราคม 2567

นักวิจัยสร้าง "บัญชีฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5" พบเผาชีวมวลพื้นที่การเกษตร ต้นตอฝุ่น PM2.5 อันดับ 1 ปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง -ใช้รถ EV ลดฝุ่นได้ 10%

     ในช่วงหลายปีหลังๆ  จะเห็นว่าทั่วโลกกลับมาให้ความสนใจ เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเรื่องของมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะมลภาวะจากฝุ่น PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล  อย่างในปีที่ผ่านมาปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีปัญหาความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 

ฐานข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษ  
     ฐานข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษ   คือ เครื่องมือค้นหาต้นกำเนิดที่แท้จริงของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5  ที่นำมาใช้วางแผนนโยบายเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศไทย  เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศที่ถูกต้อง แม่นยำ 

เผาชีวมวลในที่โล่งพื้นที่การเกษตร ต้นตอฝุ่น PM2.5

     รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี การีเวทย์ จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และคณะ ผู้ดำเนินโครงการ “การจัดทำแนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยการวิจัยการเกิดอนุภาคทุติยภูมิ จากการใช้ระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง”  ขึ้นเพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดและกลไกของการเกิด PM2.5  ทุติยภูมิ (Secondary Aerosol Precursors) รวมถึงจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการคุณภาพอากาศที่สามารถแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจาก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

แหล่งกำเนิดฝุ่น  PM 2.5
     - “ฝุ่นแบบปฐมภูมิ”   ฝุ่นที่เกิดจากการปล่อยโดยตรงจากแหล่งกำเนิด เช่น การเผาในที่โล่ง ฝุ่นละอองจากรถยนต์ เป็นต้น

    - “ฝุ่นแบบทุติยภูมิ” เกิดจากการรวมตัวกันของสารตั้งต้น (Precursors) เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แอมโมเนีย และ NMVOC กับสารอื่นๆ ผ่านปฏิกิริยาเคมีในอากาศ
 

การดำเนินงาน ฐานข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษ  
     โครงการวิจัยจะจำกัดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่การทำงานจริงจำเป็นต้องเก็บข้อมูลจากพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เพราะอากาศไม่มีอาณาเขต การเกิดมลภาวะทางอากาศของพื้นที่อื่นๆ ส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศของภาคกลางกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย

เผาชีวมวลในที่โล่งพื้นที่การเกษตร ต้นตอฝุ่น PM2.5

เผาชีวมวลในที่โล่งพื้นที่การเกษตร ต้นตอฝุ่น PM2.5

ผลวิจัย 
     จากการวิจัยพบว่า สัดส่วนระหว่าง PM2.5 ปฐมภูมิ และ PM2.5 ทุติยภูมิอยู่ที่ 70:30 โดยในประเทศไทยแหล่งกำเนิด PM 2.5 ไล่ตามอันดับดังนี้ 
อันดับ 1 จากการเผาชีวมวลในที่โล่งในพื้นที่การเกษตร
อันดับ 2 จากการเผาฟืน/ถ่านไม้เพื่อหุงต้มในภาคครัวเรือน 
อันดับ 3 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาดเล็ก 
อันดับ 4 การผลิตซีเมนต์ 
อันดับ 5 การจราจร 

เผาชีวมวลในที่โล่งพื้นที่การเกษตร ต้นตอฝุ่น PM2.5

แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5  พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
-    การจราจรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากรถบรรทุกขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ รถเมล์ รถยนต์ส่วนบุคคล 
-    การเผาไหม้ในอุตสาหกรรมจากจังหวัดโดยรอบ เช่น จังหวัดนครปฐม และสมุทรสาคร 
แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 พื้นที่ภาคกลาง
-     จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตร และการผลิตซีเมนต์ 

เผาชีวมวลในที่โล่งพื้นที่การเกษตร ต้นตอฝุ่น PM2.5

     โดยสังเกตได้ว่าในช่วงที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคกลางได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในรอบปี จะเป็นช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นผลมาจากทั้งการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่มวลอากาศมีการเคลื่อนตัวโดยความเร็วต่ำ รวมถึงเป็นช่วงที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เข้าสู่ช่วงเตรียมพื้นที่เพื่อการทำเกษตรรอบใหม่ จึงมีการเผาในที่โล่งในจำนวนมากขึ้น รวมถึงการเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณมลพิษในอากาศสูงขึ้นอย่างมากและส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

กรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑลสาเหตุหลัก PM2.5 มาจากภาคการจราจรและภาคการขนส่ง

     รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ระบุว่า “หากมองเฉพาะกรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑลจะเห็นว่าสาเหตุหลักของ PM2.5 ปฐมภูมิจะมาจากภาคการจราจรและภาคการขนส่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่รถมีอายุการใช้งานนาน ส่งผลต่อการปล่อยไอเสียในปริมาณมาก

     หากประเทศไทยสามารถดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลตั้งไว้ คือการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม 2567 จะสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิได้กว่า 10% ภายในปี 2573 และเมื่อรวมปัจจัยของการใช้รถ EV ที่มีปริมาณมากขึ้นทุกปี ก็จะช่วยลดปริมาณมลพิษทางอากาศได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

     ในส่วนของการเผาในที่โล่งพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับผลกระทบจากพื้นที่ใกล้เคียง จึงต้องมีมาตรการควบคุมการเผาเศษวัสดุชีวมวล โดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งมีอัตราการเผาในที่โล่งในพื้นที่นาข้าวและไร่อ้อยในปริมาณสูง”

      โดยข้อมูลจากงานวิจัยได้ส่งต่อให้กับกรมควบคุมมลพิษและจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบนโยบาย และมาตรการในการแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 ในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ สามารถแก้ไขปัญหาได้ถึงจุดกำเนิดของฝุ่น PM2.5