กัมพูชาสร้างอาคารทรง "ทุ่นระเบิด" คาดแล้วเสร็จปี 2026

ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา (CMAC) เปิดเผยว่ากัมพูชากำลังก่อสร้างอาคารที่มีรูปทรงเลียนแบบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลพีเอ็มเอ็น-2 (PMN-2)
เฮง รัตนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา (CMAC) เปิดเผยว่ากัมพูชากำลังก่อสร้างอาคารที่มีรูปทรงเลียนแบบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลพีเอ็มเอ็น-2 (PMN-2) ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์สันติภาพเตโช ในจังหวัดเสียมราฐทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2026
รัตนาเผยว่าอาคารนี้จะมีความสูง 17 เมตร พื้นอาคารชั้นล่างมีขนาด 108 x 108 เมตร และชั้นที่สองเป็นรูปทรงวงกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 52 เมตร โดยจะกลายเป็นหนึ่งในสมบัติของชาติที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปฏิบัติตามอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งเป็นสนธิสัญญาสากลที่ห้ามการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดจากทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม โดยช่วงสงครามและความขัดแย้งภายในยาวนาน 3 ทศวรรษที่สิ้นสุดในปี 1998 มีทุ่นระเบิดและอาวุธอื่น ๆ ถูกทิ้งไว้ในกัมพูชาราว 4-6 ล้านชิ้น
อนึ่ง ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ระบุว่าสหรัฐฯ ทิ้งวัตถุระเบิดกว่า 2.75 ล้านตัน ในการโจมตี 230,516 ครั้ง บริเวณพื้นที่ 113,716 จุดทั่วกัมพูชา ระหว่างเดือนตุลาคม 1965 ถึงเดือนสิงหาคม 1973
รายงานจากทางการเผยว่าทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างได้คร่าชีวิตชาวกัมพูชา 19,843 ราย และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียอวัยวะ 45,267 ราย ระหว่างปี 1979 ถึงเดือนมิถุนายน 2025 โดยกัมพูชาตั้งเป้าที่จะเก็บกู้และกำจัดทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างทั้งหมดภายในปี 2030
ที่มา : สำนักข่าวซินหัว

ท้าสึก "พระลูกวัด" เชื่อเจ้าอาวาสวัดม่วง วางแผนแจ้งความทองหาย

เปิดไดอารี่ น้องเมย ในรั้ว ร.ร.เตรียมทหาร เผย "เช้าโดนต่อย ดึกลงนรก"

วันไหว้ขอพรพระจันทร์ เตรียมตัวรับพลังบวก พร้อมข้อห้ามที่ต้องรู้

เบกกิ้งโซดา ใช้ดับกลิ่นได้จริงไหม มีอันตรายหรือเปล่า
