คนแก่ที่บ้านต้องระวัง 5 กลลวงสุดแนบเนียนจากมิจฉาชีพ ดูดเงินเกลี้ยง

มิจฉาชีพใช้ “คำพูดสวยหรู” หลอกผู้สูงอายุดูดเงินในบัญชี แฉ 5 กลลวงซับซ้อน ที่คนรุ่นพ่อแม่ต้องรู้ทันก่อนตกเป็นเหยื่อ
เตือนภัย! มิจฉาชีพ เล็งเป้าผู้สูงอายุ แฉ 5 วิธีพูดสวยหรูแต่หลอกดูดเงินบัญชี
กรมกิจการผู้สูงอายุร่วมกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ออกโรงเตือนภัยผู้สูงอายุ หลังพบแนวโน้มเพิ่มขึ้นของกรณีถูกมิจฉาชีพโทรศัพท์หลอกลวง ด้วยคำพูดสวยหรู ชวนเชื่อ ใช้กลยุทธ์ทางจิตวิทยาเล่นงานผู้สูงวัย ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ช้ากว่าคนรุ่นใหม่ และอาจไม่คุ้นเคยกับการตรวจสอบข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์
โดยกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มักใช้ “คำพูดน่าเชื่อถือ” เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หรือหว่านล้อมให้โอนเงิน ภายใต้การแอบอ้างหน่วยงานทางการ หรือใช้กลอุบายซับซ้อน โดยมี 5 กลลวงที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนี้
1.“ชวนลงทุน ได้ผลตอบแทนสูง” แต่ความจริงคือแชร์ลูกโซ่
มิจฉาชีพจะมาในคราบนักธุรกิจ หรือผู้มีความรู้ด้านการลงทุน เสนอแผนการลงทุนที่อ้างว่า “ไม่มีความเสี่ยง” และ “ผลตอบแทนสูงมาก” เพื่อให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อโอนเงินลงทุน โดยความจริงเป็นลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ที่เงินของผู้ร่วมรายใหม่จะถูกนำไปจ่ายให้รายเก่า ก่อนจะหายเข้ากลีบเมฆเมื่อไม่มีเหยื่อรายใหม่เข้ามา
2.“คุณคือผู้โชคดี ได้รับรางวัลใหญ่!” แต่ต้องโอนเงินก่อน
ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกลวงด้วยคำว่า “โชคดี” หรือ “ถูกรางวัล” โดยมิจฉาชีพจะแจ้งว่าได้รับรางวัลเงินสด หรือของมีค่า แต่ต้องจ่าย “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ก่อนจึงจะสามารถรับรางวัลได้ ทั้งที่ตามกฎหมายไม่มีการเรียกเก็บล่วงหน้าเช่นนี้
3.“คุณติดหนี้บัตรเครดิต ต้องรีบชำระ” ทั้งที่ไม่เคยสมัครบัตร
มิจฉาชีพจะแจ้งว่าผู้สูงอายุติดหนี้บัตรเครดิต และหากไม่รีบชำระ จะถูกดำเนินคดีหรือติดบัญชีดำ เมื่อเหยื่อปฏิเสธว่าไม่มีบัตรเครดิต กลับถูกหลอกว่า “ข้อมูลส่วนตัวถูกนำไปใช้เปิดบัตรโดยผิดกฎหมาย” และถูกกดดันให้โอนเงินชำระเพื่อยุติเรื่อง
4.“มีญาติห่าง ๆ ทิ้งเงินประกันชีวิตไว้ให้” แต่ต้องโอนเงินให้ครบก่อน
กลลวงลักษณะนี้ใช้ความหวังทางอารมณ์ โดยอ้างว่า มีญาติที่ไม่สนิทเสียชีวิตและทิ้งเงินประกันชีวิตไว้ให้ แต่ผู้สูงอายุต้องโอนเงินบางส่วน “เพื่อชำระเบี้ยประกันที่ยังไม่ครบ” แลกกับการรับผลประโยชน์ก้อนโต ซึ่งแท้จริงคือการหลอกลวงเต็มรูปแบบ
5.“ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร” อ้างบัญชีถูกอายัด ต้องยืนยันตัวตน
มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร โทรมาแจ้งว่าบัญชีของผู้สูงอายุถูกอายัด หรือมีธุรกรรมผิดปกติ พร้อมขอข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน, เลขบัญชี หรือแม้กระทั่งรหัส ATM หากหลงเชื่อ อาจถูกดูดเงินออกจากบัญชีหมดในพริบตา
ข้อควรระวัง
- ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์กับบุคคลแปลกหน้า
- หากสงสัย โทรตรวจสอบกับหน่วยงานนั้นโดยตรง
- ไม่เชื่อคำพูดที่เร่งรัดหรือขู่ให้โอนเงินทันที
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสายด่วน 1441 (ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนภัยทางไซเบอร์)
หน่วยงานรัฐย้ำ
หากได้รับโทรศัพท์ลักษณะต้องโอนเงิน หรือต้องให้ข้อมูลส่วนตัว โปรดตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็น “มิจฉาชีพแน่นอน” และควรรีบแจ้งให้ญาติ หรือคนใกล้ชิดรับรู้ทันทีเพื่อช่วยกันป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
อ้างอิง กรมกิจการผู้สูงอายุ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กรมอุตุฯ เตือน! ฝนตกหนักต่อเนื่อง ระวังน้ำป่าไหลหลาก-ดินถล่ม

บุกทลาย 2 เครือข่ายเว็บพนัน ในบุรีรัมย์ เงินสะพัด 1.8 ล้านต่อเดือน

เจ้าอาวาสวัดม่วง เผยแล้ว ใครเอากระดาษปิดกล้องวงจรปิด

"หวยลาววันนี้"2/7/68 ลาววันนี้ ตรวจหวยลาว ผลหวยลาววันนี้ 2ก.ค.68
