"กรมทรัพยากรน้ำ" เตรียมสร้างฝายดักตะกอนใต้น้ำ ในแม่น้ำกก

"กรมทรัพยากรน้ำ" เตรียมสร้างฝายดักตะกอนในแม่น้ำกก เพื่อช่วยลดปัญหาสารหนูปนเปื้อนในน้ำ ก่อนจะไหลผ่านพื้นที่ชุมชน โดยออกแบบให้ไม่กระทบระบบนิเวศ
วันนี้ (22 พ.ค. 68) นายธีระชุณ บุญสิทธิ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางแผนออกแบบการก่อสร้าง “ฝายดักตะกอนใต้น้ำ” ในแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย เพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารหนูและโลหะหนักในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเข้มข้นของสารหนูก่อนที่น้ำจะไหลผ่านชุมชน และยังคงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นสำคัญ
การดำเนินงานเริ่มจากการบินสำรวจลำน้ำโดยกรมทรัพยากรน้ำร่วมกับกรมการบินพลเรือน เพื่อเก็บข้อมูลภูมิประเทศและกระแสน้ำ จากนั้นจะนำมาบูรณาการกับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพื่อกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งฝาย เช่น จำนวนจุด เว้นระยะห่างเท่าใด และจุดใดจะสามารถดูดซับตะกอนสารหนูได้ดีที่สุด
อธิบดีฯ ย้ำว่า โครงการนี้ไม่ใช่การสร้างเขื่อนหรือสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่ และฝายที่จะสร้างก็ไม่สูงจนกั้นปริมาณน้ำไหล แต่มีลักษณะเฉพาะสำหรับการกรองและดักจับตะกอนใต้ผิวน้ำ ซึ่งบริเวณหน้าฝายจะมีตะกอนที่ดักจับสารหนูตกค้างอยู่ก่อนน้ำไหลเข้าสู่ชุมชน โดยค่าความเข้มของสารหนูต้องอยู่ในระดับมาตรฐานความปลอดภัย
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบที่เหมาะสมและเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งมีแผนติดตั้งกล้องวงจรปิดตามแนวลำน้ำ เพื่อสังเกตการไหลและความขุ่นของน้ำอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ การดำเนินงานจะพิจารณาความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ เพื่อให้ฝายดักตะกอนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่รบกวนระบบนิเวศและไม่เปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเซาะตลิ่งหรือความเปราะบางของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ