เช็กอาการ Long COVID ที่พบได้บ่อย ในทุกสายพันธุ์

01 สิงหาคม 2565

"หมอธีระ วรธนารัตน์" อัพเดตความรู้โควิด-19 ภาวะลองโควิด (Long COVID) มีอาการผิดปกติที่แตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ของไวรัส เช็กอาการที่พบได้บ่อย ในทุกสายพันธุ์

จับตาสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้นหลายราย อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนกังวลคือ ภาวะลองโควิด (Long COVID) หรือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 เพราะทำให้ร่างกายกลับมาไม่เหมือนเดิม พบได้หลากหลายในทุกระบบของร่างกาย

เช็กอาการ Long COVID ที่พบได้บ่อย ในทุกสายพันธุ์

 

ล่าสุด "หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการลองโควิด (Long COVID)

1. Long COVID มีอาการผิดปกติที่แตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ของไวรัส

Canas LS และคณะจาก King's College London ประเทศอังกฤษ ได้ทำการศึกษาจากฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 336,652 คน ซึ่งได้ทำการบันทึกอาการต่างๆ ผ่านทาง smartphone โดยติดเชื้อในช่วงที่สายพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม, อัลฟ่า, และเดลต้า ได้ระบาด พบว่ามี 9,323 คนที่ประสบปัญหา Long COVID 

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์กลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมมีอาการที่พบบ่อย 4 ประเภท สายพันธุ์อัลฟ่า 7 ประเภท และสายพันธุ์เดลต้า 5 ประเภท ที่พบกันได้บ่อยในทุกสายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและทางเดินหายใจ, กลุ่มอาการผิดปกติทางระบบประสาท, กลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับหลายอวัยวะ, และกลุ่มอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

เช็กอาการ Long COVID ที่พบได้บ่อย ในทุกสายพันธุ์

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอน ที่ระบาดทั่วโลกในปี 2022 นี้ คงต้องรอดูผลการวิจัยอื่นๆ ที่จะตามมา ทั้งนี้ ผลการศึกษานี้ย้ำเตือนให้เราเห็นว่า Long COVID เป็นของจริง ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการดำรงชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศในระยะยาวได้ การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

2. การใส่หน้ากากช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

Alihsan B และคณะจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ (Systematic review) และเผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อวานนี้ 31 กรกฎาคม 2565 สาระสำคัญคือ การชี้ให้เห็นว่า คนที่ใส่หน้ากากจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อน้อยกว่าคนที่ไม่ใส่หน้ากากอย่างมีนัยสำคัญ 

สถานการณ์ระบาดของไทยในปัจจุบัน ยังรุนแรง ดังจะเห็นได้จากสภาวะรอบตัวที่ติดเชื้อกันทั้งในที่ทำงาน และในครัวเรือนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนเสียชีวิตไปกว่า 700 คนในช่วงเดือนที่ผ่านมา ระมัดระวังการกินดื่ม สังสรรค์ ปาร์ตี้ ร่วมกับผู้อื่นนอกครัวเรือน และในที่ทำงาน เพราะติดกันเยอะจากกิจกรรมลักษณะนี้ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น และจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้มาก

ขอบคุณ FB : Thira Woratanarat

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews