ปรับกลยุทธ์ก้าวสู่โลกการเงินยุคใหม่ "กรุงศรี คอนซูมเมอร์" รุกดิจิทัล

27 กรกฎาคม 2565

ในภาวะที่ทั่วโลกยังเผชิญแรงกดดันทั้งภาวะเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจถดถอย “ธุรกิจการเงิน” เปลี่ยนแปลงไป มุ่งเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ทั้งด้านกลยุทธ์และการบริการ

 ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการวางกลยุทธ์ในปัจจุบันและในระยะ 3 ปี (2565-2567) เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรให้ก้าวทันโลกการเงินแห่งอนาคตว่า เราพัฒนาตัวเองให้พร้อมแข่งขันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยได้วาง 5 กลยุทธ์หลัก คือ 


1. ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ตอบรับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ 
2. ใช้นวัตกรรมและข้อมูลมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจ 
3. สานต่อความร่วมมือกับพันธมิตร สร้างระบบนิเวศดิจิทัลให้เข้าถึงลูกค้าอย่างครอบคลุม 
4. แสวงหาโอกาสในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ เพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจ 
และ 5. พัฒนาบุคลากรให้ก้าวทันโลกยุคใหม่


รุกพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินตอบโจทย์โลกอนาคต
ธุรกิจการเงิน มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากโควิด ลูกค้าหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้จากหมวดธุรกิจออนไลน์ช้อปปิ้งเติบโตต่อเนื่อง 19% เทียบกับปีก่อน ส่วนฟู้ดเดลิเวอรีเติบโต 72% กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงวางแผนพัฒนาบริการ โดยส่งเสริมให้ลูกค้าใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้น ทั้งยังให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อศึกษาความต้องการของลูกค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์และทำการตลาดของเรา

ปรับกลยุทธ์ก้าวสู่โลกการเงินยุคใหม่ "กรุงศรี คอนซูมเมอร์" รุกดิจิทัล

  มุ่งเน้นให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เช่น เอ็กซ์ยู บัตรเครดิต ดิจิทัล ตั้งแต่เปิดตัว 10 ก.พ. 2565 - 31 พ.ค. 2565 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรกว่า 44 ล้านบาท, บัตรเครดิต Krungsri NOW ซึ่งเป็นบัตรสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เปิดตัวเมื่อ พ.ย. 2564 จนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 300 ล้านบาท มีฐานลูกค้า 25,000 ใบ ส่วน UCASH บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอป UCHOOSE ซึ่งเปิดให้บริการในเดือน มิ.ย. 2564 จนถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2565 มีลูกค้ากดทำรายการมากกว่า 3.69 ล้านครั้ง คิดเป็นวงเงิน 29,500 ล้านบาท

ปรับกลยุทธ์ก้าวสู่โลกการเงินยุคใหม่ "กรุงศรี คอนซูมเมอร์" รุกดิจิทัล

ปรับกลยุทธ์ก้าวสู่โลกการเงินยุคใหม่ "กรุงศรี คอนซูมเมอร์" รุกดิจิทัล

   •    ทุ่มงบพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล


 ณญาณี กล่าวว่า เรามีการลงทุนพัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัล รองรับการแข่งขันใน 3 ปี เช่น การนำระบบดาต้ามาใช้การวิเคราะห์ เพื่อช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการได้ตรงใจขึ้น มีการใช้ AI มาทำการตลาดรูปแบบใหม่ที่ให้บริการตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้มากขึ้น และยังนำ RPA (Robotic Process Automation) มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทุกวันนี้เราใช้แอปฯ UCHOOSE เห็นข้อมูลว่าลูกค้าใช้อะไร ชอบอะไร จึงส่งโปรโมชันที่เหมาะสมให้ลูกค้าได้ ทั้งยังต่อยอดกับร้านค้าพันธมิตร ให้ใช้โปรแกรมผ่อนชำระผ่านระบบของเรา เพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้ลูกค้า

 

   ส่วนการสมัครบัตร แม้เรายังให้บริการที่สาขา แต่ถ้าลูกค้าไม่สะดวกก็ใช้บริการผ่านดิจิทัลได้ เพียงสแกนเอกสารส่งใบสมัครผ่านแอปฯ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางบริการใหม่ๆ เช่น Line OA, Facebook ขณะเดียวกัน เราก็ร่วมมือกับพันธมิตรนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้า และพัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัล ให้เราเข้าถึงลูกค้าได้อย่างครอบคลุม เข้าใจพฤติกรรมและตอบรับความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น


ที่สำคัญ นอกจากการผสานความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในธุรกิจแล้ว กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังสร้างความเติบโตโดยผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี ภายใต้กลยุทธ์ “Krungsri One Retail” ซึ่งหน่วยธุรกิจในกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลของกรุงศรี ได้ร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าการเติบโตไปยังอาเซียน เพื่อขยายธุรกิจคอนซูมเมอร์ไฟแนนซ์ต่อเนื่อง เช่น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ล่าสุด ธนาคารกรุงศรี ได้เข้าซื้อกิจการ SHB Finance ประเทศเวียดนาม


•    ผนึกพันธมิตร รุกดิจิทัลเลนดิ้ง
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง “ณญาณี” กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดตัว “ดิจิทัลเลนดิ้ง” หรือสินเชื่อดิจิทัล ร่วมกับพันธมิตรหลายราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้กับคนไทย ให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนจะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในปลายปีนี้ 
        
“ดิจิทัลเลนดิ้ง เป็นโอกาสสำคัญมากในการทำธุรกิจ ในครึ่งปีหลัง กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีแผนจะร่วมมือกับพันธมิตร ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ซึ่งเรามองเห็นโอกาสในการเติบโตในอีก 3 ปี คาดว่ายอดสินเชื่อดิจิทัลเลนดิ้ง จะเติบโตคิดเป็น 50% ของยอดสินเชื่อรวม สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 และต้องการความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ โดยราวปลายปีนี้ เรา

ยังมีแผนจะเปิดให้บริการ ผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง หรือ BNPL – Buy Now Pay Later ผ่านแอปฯ ซึ่งสามารถขอทำรายการผ่อนชำระสินค้าด้วยตนเองอีกด้วย”


  การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ “ณญาณี” กล่าวว่า จากความสำเร็จในการนำนวัตกรรมมาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทำให้กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีศักยภาพจะนำเสนอบริการใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ เช่น บริการ Collection as a Service ซึ่งน่าจะเริ่มให้บริการกับพันธมิตรที่สนใจได้ช่วงปลายปีนี้ พร้อมกันนี้ยังมุ่งเน้นการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานแบบยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ 


•    ลุ้นเปิดประเทศ ดันยอดใช้จ่ายบัตรฯ-สินเชื่อ โตต่อ 
ด้านภาพรวมตลาดธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ครึ่งหลังปีนี้ “ณญาณี” กล่าวว่า จากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยกดดันการใช้จ่ายของคนไทย ซึ่งยังต้องติดตามผลกระทบต่อไป แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณ โดยหวังว่าการใช้จ่ายของคนไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวดี จากการเปิดประเทศที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากขึ้น และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐที่น่าจะยังมีอยู่ต่อเนื่องเพื่อดูแลการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ 

ปรับกลยุทธ์ก้าวสู่โลกการเงินยุคใหม่ "กรุงศรี คอนซูมเมอร์" รุกดิจิทัล
   แนวโน้มภาพรวมของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ “ณญาณี” กล่าวว่า หลังเริ่มเปิดประเทศ แม้จะยังมีปัจจัยกดดัน แต่พบว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในเดือน พ.ค. ที่เห็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยการเติบโตของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตส่วนใหญ่มาจากช่องทางออนไลน์ เช่น ฟู้ดเดลิเวอรี แพลตฟอร์มออนไลน์ช้อปปิ้ง และการเดินทางต่างประเทศ สะท้อนจาก 5 เดือนแรกที่ผ่านมานี้

 

   กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร เติบโต 12% และยอดสินเชื่อใหม่ เติบโต 14% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปัจจุบัน NPL บัตรเครดิต อยู่ที่ 1.1% และสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ อยู่ที่  2.5% ซึ่งนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ 


ทั้งนี้ ในปี 2565 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังคงตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 312,300 ล้านบาท เติบโต 10% ยอดสินเชื่อใหม่ 84,600 ล้านบาท เติบโต 11% และยอดสินเชื่อคงค้าง 149,600 ล้านบาท เติบโต 7% จากปีก่อน