เปิด10เรื่องที่คนไทยต้องรู้ เกี่ยวกับกฎหมาย "PDPA" ก่อนบังคับใช้

31 พฤษภาคม 2565

เปิด10เรื่องที่คนไทยต้องรู้เกี่ยวกับ PDPA  เริ่มมีผลบังคับใช้เต็มรูปเเบบ 1 มิถุนายน 2565 นี้ เเละ4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA ที่หลายคนสงสัย???


  เริ่มมีผลบังคับใช้เต็มรูปเเบบ 1 มิถุนายน 2565 นี้ สำหรับ "พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562" หรือ "PDPA"(Personal Data Protection Act) ซึ่งมีขึ้นเพื่อให้เอกชนและรัฐที่เก็บรวมรวม ใช้ เปิดเผย และ/หรือ โอนข้อมูลส่วนบุคคลในราชอาณาจักรไทย ให้เป็นไปตามมาตรการปกป้องข้อมูลของผู้อื่นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว โดยต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ก่อนจะมีการเก็บรวบรวม นำไปใช้หรือเปิดเผย พร้อมเปิด10เรื่องที่คนไทยต้องรู้เกี่ยวกับ PDPA 

โดยทางเพจ PDPC Thailand ได้รวบรวม10เรื่องที่คนไทยต้องรู้เกี่ยวกับ PDPA 
1. "ข้อมูลส่วนบุคคล" คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมเฉพาะ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัว ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ (มาตรา 6) 

 

2. "ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" ต้องเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งเอาไว้ก่อหรือในขณะเก็บรวบรวม (ห้ามใช้นอกเหนือวัถตุประสงค์) (มาตรา 21 ) 

 

3. "ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเราเท่าที่จำเป็น ภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 22 ) ใช้ข้อมูลของเราให้น้อยที่สุด

 

4. ความยินยอม เป็นฐานการประมวลผลฐานหนึ่งเท่านั้น "ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" มีหน้าที่ในการกำหนดฐานการประมวลผลให้สอดคล้องกับลักษณะการประมวลผลและความสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้ควบคุมข้อมูล" กับ "เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล" (ตามมาตร 24 หรือ มาตรา 26) 

เปิด10เรื่องที่คนไทยต้องรู้ เกี่ยวกับกฎหมาย "PDPA" ก่อนบังคับใช้

5.ในการขอความยินยอม "ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" จะต้องคำนึงอย่างที่สุดในความเป็นอิสระของ "เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล" (ต้องไม่มีสภาพบังคับในการให้/ไม่ให้) (มาตรา 19 วรรค4) 

 

6. "เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล" มีสิทธิต่าง  ๆ ดังนี้ 

สิทธิในการถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้ (มาตรา 19 วรรคห้า)
สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด (Privacy Notice) (มาตรา 23)
สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 30) 
สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 31) 
สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 32) 
สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ (มาตรา 34)
สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 34) 
สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 35) 
 

7. กฎหมาย PDPA ให้กับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็ตาม (มาตรา 5) 

 

8.ในกรณีที่เหตุการละเมิด "ข้อมูลส่วนบุคคล" มีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของ "เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล" กฎหมายกำหนดให้ "ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" มีหน้าที่ แจ้งเหตุการละเมิดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ พร้อมกับแนวทางการเยียวยาโดยไม่ชักช้า (มาตรา 37(4)) 

 

9."ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" มีหน้าที่จัดทำบันทึกรายการกิจกรรม เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ โดยจะบันทึกเป็นหนังสือหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

 

10. "เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล" มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม PDPA หรือ ประกาศฯ ที่ออกตาม PDPA ทั้งนี้ กระบวนการร้องเรียนเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด (มาตรา 73) 

นอกจากนี้ล่าสุดนั้นทาง PDPC Thailand ยังได้เปิด4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA เพื่อสร้างความเข้าใจเเละป้องกันการเข้าใจผิดของประชาชนอีกด้วย


1. การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ตอบ กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว

เปิด10เรื่องที่คนไทยต้องรู้ เกี่ยวกับกฎหมาย "PDPA" ก่อนบังคับใช้
2. ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA 


ตอบ สามารถโพสท์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 


3. ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA 
ตอบ การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน 


4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้ 
ตอบ ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 
(1) เป็นการทำตามสัญญา 
(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ 
(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล 
(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ 
(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง 


ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป 
PDPA = พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 4(1) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น 

cr.
PDPC Thailand