เผยข้อมูลแนวโน้ม "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย รุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

09 พฤษภาคม 2565

เผยข้อมูลแนวโน้ม "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย รุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม โดย WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการ

เพจ Center for Medical Genomics ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า "การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ. ตำแหน่ง "452" อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ "โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1" ที่ WHO ให้เฝ้าระวังมีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น (high transmissibility) อีกทั้งอาจจะมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์ (ปอด) จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว (fusogenicity หรือ multinucleated syncytial pneumocytes) ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ที่ระบาดในอดีต

เผยข้อมูลแนวโน้ม โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย รุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมพบการเปลี่ยนแปลงบริเวณส่วนหนามตำแหน่งที่ "452" จากกรดอะมิโน "ลิวซีน (L)" เปลี่ยนมาเป็น "อาร์จีนีน (R)" หรือ "กลูตามีน (Q)" (ภาพ 1) ทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อผนังเซลล์ที่อยู่ข้างเคียง หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่ไประหว่างเซลล์ต่อเซลล์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ให้สุ่มเสี่ยงที่จะถูกจับและทำลายด้วย "แอนติบอดี" ที่ถูกสร้างในร่างกายผู้เคยติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน บรรดาเซลล์ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลอมหลวมรวมเป็นเซลล์เดียว(infected multinucleated syncytial pneumocytes) จะกลายเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ภายในเซลล์มีหลายนิวเคลียส ดีเอ็นเอภายในเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายแตกหัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อมองเป็นสิ่งแปลกปลอมและเข้ามาทำลายเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียส(syncytial pneumocytes) เหล่านั้น เกิดการอักเสบ และบางรายลุกลามเกิดเป็นปอดบวมอันอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยรุนแรง

 

สายพันธุ์ "เดลตา" มีการกลายพันธุ์ของหนามเป็น "R452" (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง (high pathogenicity) ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเกิดอาการปอดอักเสบจากการหลอมหลวมของเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)

ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม (B.1.1529) เช่น BA.1, BA.1.1 และ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์บริเวณดังกล่าว กรดอะมิโนยังคงเป็น "L452" (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเขียว) ซึ่งสอดคล้องกับอาการทางคลินิกของโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาการไม่รุนแรง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิด syncytial pneumocytes ในเซลล์ปอดที่ติดเชื้อ

เผยข้อมูลแนวโน้ม โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย รุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

แต่ที่น่ากังวลคือทั้งโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.4" และ "BA.5" ที่ WHO ประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452 (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบฟ้า) ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาก็มีการกลายพันธุ์เป็น "Q452" (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเหลือง) กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) อันอาจก่อให้เกิดเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)


ส่วนโปรตีนหนาม (Spike protein) ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะมีความเหมือนกับสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 มากกว่า สายพันธุ์ย่อย BA.1 (ภาพ 2) ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 น่าจะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 ได้มากกว่าจากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.1 โดยทั้งในประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาแม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.1 ตามมาด้วยสายพันธุ์ย่อย BA.2 อย่างยาวนาน แต่กระนั้นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ยังสามารถระบาดได้ในแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ก็สามารถระบาดได้ในสหรัฐอเมริกา (ภาพ 3) อันแสดงว่าการกลายพันธุ์บนสายจีโนมของสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1” ณ. ตำแหน่ง “452” น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการแพร่ระบาด

เผยข้อมูลแนวโน้ม โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย รุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

ดังนั้นมีแนวโน้มที่โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม โดย WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการกลานพันธุ์ ณ. ตำแหน่ง 452 เหมือนสายพันธุ์เดลตา คาดว่าจะทราบผลอาการทางคลินิกจากผู้ติดเชื้อในพื้นที่ใน 2-4 สัปดาห์จากนี้ โดยข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของสองประเทศเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม

ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนหากยังไม่ได้ฉีดและฉีดเข็มกระตุ้นเมื่อครบกำหนดเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหากมีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เข้ามาในประเทศไทย เพราะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือจากวัคซีนเข็มสุดท้ายที่ฉีดนานกว่า 4 เดือนอาจมีประสิทธิภาพในการปกป้องเรามากจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ลดลง

ศาสตราจารย์ อเล็กซ์ ซิกัล (Alex Sigal) นักไวรัสวิทยาที่สถาบันวิจัยสุขภาพแอฟริกาในแอฟริกาใต้ ผู้พบไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์เบต้า และโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระบุว่าจากผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่าการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้นแล้วมีการติดเชื้อจะช่วยลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งยังก่อให้เกิดเป็นภูมิคุ้มกันลูกผสม (hybrid immunity) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่กว้างกว่า (broader) ไม่จำเพาะต่อสายพันธุ์ที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิเท่านั้น "ภูมิคุ้มกันลูกผสม" แบบนี้สามารถต่อสู้กับโอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้นมาได้ดีกว่า"

 

ขอบคุณ FB : Center for Medical Genomics