ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40 เช็กวิธีเบิกประกันสังคม กรณีติดโควิด ปี 2565

02 พฤษภาคม 2565

ผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 เช็กวิธีเบิกประกันสังคม กรณีติดเชื้อโควิด-19 ปี 2565 ต้องทำอย่างไรบ้าง

จากกรณีผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ในระบบประกันสังคม เกิดติดเชื้อโควิด-19 สามารถใช้สิทธิในการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนรายได้ โดยผู้ประกันตนแต่ละมาตราจะต้องเข้ารับการรักษาในระบบ สปสช. เพื่อขอรับใบรับรองแพทย์มาเบิกประกันสังคม

 

ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40 เช็กวิธีเบิกประกันสังคม กรณีติดโควิด ปี 2565

 

วิธีเบิกค่าชดเชยค่ารักษาหยุดงานติดโควิด จากประกันสังคม

1. เข้ารักษาตัวตามระบบที่ สปสช. กำหนด

2. ทำเรื่องขอใบรับรองแพทย์ ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ระบุการติดเชื้อ ระบุวันหยุดงาน

3. เตรียมเอกสารเบิกค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยรายได้จากสำนักงานประกันสังคม 

การเบิกประกันสังคมกรณีติดโควิด-19 ต้องมีเอกสารหลักฐาน ดังนี้


1. แบบคำขอประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01) ดาวน์โหลดหรือขอแบบฟอร์ม "แบบคำขอประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01)" จากสำนักงานประกันสังคม กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และเลือกขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (คลิกที่นี่)

- เลือก ค่ารักษาพยาบาล จำนวนเงินตามใบเสร็จรับเงิน

- เลือก เงินทดแทนการขาดรายได้ ตั้งแต่วันที่....ถึงวันที่....กลับเข้าทำงานวันที่....

2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) หรือ สำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ (ต่างชาติ/ต่างด้าว)

3. สำเนาบัตรประกันสังคม

4. ใบรับรองแพทย์ตัวจริง (ระบุวันหยุดงาน)

5. ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล (กรณีเบิกค่ารักษา)

6. หนังสือรับรองการหยุดงานจากนายจ้าง

7. สำเนาสมุดบัญชีธนาคารออมทรัพย์ หน้าแรก

8. กรณีเปลี่ยนชื่อ สกุล แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อสกุล


วิธีเบิกประกันสังคมโควิด ปี 2565 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40

เงินชดเชยรายได้ แต่ละมาตรา

เบิกประกันสังคมโควิด ม.33

- กรณีลาป่วย 30 วันแรกจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

- กรณีจำเป็นต้องหยุดพักรักษาตัวนานเกินกว่า 30 วัน สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย โดยรับเงินทดแทนร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน หากป่วยเรื้อรังได้รับไม่เกิน 365 วัน

เบิกประกันสังคมโควิด ม.39

- ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างอยู่ที่จำนวน 4,800 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วันปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อรัง จะสามารถได้เงินทดแทน ไม่เกิน 365 วัน
- ต้องมีการส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนวันเข้ารับการบริการทางการแพทย์


เบิกประกันสังคมโควิด ม.40

ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะต้องส่งสมทบมาอย่างน้อย 3 เดือนในระยะเวลา 4 เดือนจนเกิดสิทธิ์ก่อน จึงจะเบิกเงินชดเชยรายได้กับประกันสังคมได้

- เงินทดแทนวันละ 300 บาท กรณีเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป แต่ไม่ถึง 30 วันต่อปี (สำหรับทางเลือก 1 และ 2) และไม่เกิน 90 วันต่อปี (สำหรับทางเลือกที่ 3)

- เงินทดแทนวันละ 200 บาท กรณีแพทย์ให้รักษาตัวที่บ้าน ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 30 วันต่อปี (สำหรับทางเลือก 1 และ 2) และไม่เกิน 90 วันต่อปี (สำหรับทางเลือกที่ 3)

- เงินทดแทนวันละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี กรณีไม่ได้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน หรือไม่ได้กักตัว มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อสำนักงาน (เฉพาะทางเลือกที่ 1 และ 2 เท่านั้น สำหรับทางเลือกที่ 3 ไม่คุ้มครอง)


ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39

จะได้รับการช่วยเหลือครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์ประเภทผู้ป่วยใน ดังนี้

- ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ

- ค่าดูแลการให้บริการผู้ประกันตน (ค่าอาหาร 3 มื้อ การติดตามอาการ และการให้คำปรึกษา) 

- ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และอุปกรณ์อื่นๆ

- ค่ายาที่ใช้รักษา

- ค่าพาหนะเพื่อรับหรือส่งต่อผู้ป่วยระหว่างที่พัก โรงพาบาลสนาม และสถานพยาบาล

- ค่าบริการ X-ray 

- ค่า oxygen ตามดุลยพินิจของแพทย์

โดย สปส.จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับทางโรงพยาบาลตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขฯ

- ค่าทดแทนเมื่อขาดรายได้


การเบิกประกันสังคมกรณีติดโควิด-19 ใช้เวลากี่วันถึงได้รับเงินชดเชย

- การเบิกเงินชดเชยต่างๆ จากประกันสังคม อยู่กับระยะเวลาการพิจารณาเอกสารของเจ้าหน้าที่ประกันสังคม ซึ่งเร็วสุดอาจจะได้เงินภายใน 7 วัน หรือภายในวันที่ 30 หรือ 31 ของเดือนที่ทำเรื่องเบิก ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะการจ่ายเงินได้ที่ www.sso.go.th โทร 1506

 

ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40 เช็กวิธีเบิกประกันสังคม กรณีติดโควิด ปี 2565

 

ขอบคุณ FB : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน