"หมอธีระ" เผยข้อมูล ติดโควิดไม่ใช่แค่ทางเดินหายใจ เทียบทั่วโลกไทยสูงมาก

04 เมษายน 2565

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับโควิด-19 ในประเทศไทย

 จากกรณีที่ "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์  ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า

 สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก

เมื่อวานนี้ไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 97 คน เทียบกับทั่วโลกแล้วถือว่าสูงมาก เป็นรองเพียงเกาหลีใต้ รัสเซีย อิตาลี และฮ่องกง ทั้งนี้ถือว่าติดอันดับท็อปไฟฟ์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ระบาดมา หากจำไม่ผิด

สะท้อนให้เราหันมาประเมินกันให้ดีว่า ไอ้ที่ว่า โอมิครอน อ่อนนั้น เป็นการเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดมาในระลอกก่อน แต่สุดท้ายแล้วสถานการณ์จริง มันหนักหนาสาหัส เพราะติดง่ายแพร่ง่ายกว่าเดิมถึง 7 เท่า ทำให้จำนวนการติดเชื้อจริงในสังคมนั้นมากมาย ป่วยกันเยอะ และมีจำนวนคนที่ป่วยรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งมีทั้งคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และคนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว

นอกจากนี้ คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ติดเชื้อซ้ำอีกได้ด้วย

การตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดจริงว่าหนัก และป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจึงมีความสำคัญยิ่งนัก

มิฉะนั้นปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID จะถาโถมเป็นระลอกเรื้อรัง ส่งผลกระทบยาวนาน ทั้งต่อผู้ป่วยเอง รวมถึงครอบครัว และประเทศ
หมอธีระ เผยข้อมูล ติดโควิดไม่ใช่แค่ทางเดินหายใจ เทียบทั่วโลกไทยสูงมาก


-"หมอธีระวัฒน์" แนะฟ้าทะลายโจร ควรกินกี่เม็ด รับมือติดเชื้อโควิด-19
-ยาสีฟันฟลูออไรด์ ทำให้เป็นโรคมะเร็ง จริงหรือ สถาบันมะเร็งตอบแล้ว
-ประเทศไทยพบเเล้ว1ราย ติดเชื้อโอไมครอน ใกล้เคียงสายพันธุ์"ลูกผสม XJ"

การติดเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ใช่อยู่แค่ทางเดินหายใจ แต่กระจายไปทั่วร่างกาย (systemic infection)

งานวิจัยล่าสุดจากประเทศสเปน ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อระดับสากล BMC Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 3 เมษายน 2565

ติดตามผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 29 คนที่มีอาการคงค้างต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังการรักษา โดยที่ 55% มีประวัติติดเชื้อโดยมีอาการเพียงเล็กน้อย

สาระสำคํญที่พบคือ สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมไวรัสในเลือดของผู้ป่วยได้ถึง 45%

ทั้งนี้สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมในเลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระ อย่างใดอย่างหนึ่งในผู้ป่วยได้ 51%

ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มีอาการคงค้างต่อเนื่องนั้น ราวครึ่งหนึ่งรายงานว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อสมรรถนะการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมาก

ผลการวิจัยนี้ แม้กลุ่มตัวอย่างจะไม่มากนัก แต่ชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 มีลักษณะที่กระจายไปทั่วร่างกาย (systemic infection) ไม่ได้ติดเชื้อจำกัดในระบบทางเดินหายใจเท่านั้น

ซึ่งหากเราติดตามองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าสอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ที่เจาะลึกศึกษาภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID และพบหลักฐานที่ทำให้นำมาซึ่งสมมติฐานการเกิดโรคหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องการตรวจพบไวรัสที่ยังคงติดเชื้อแฝงอยู่ในเซลล์ของอวัยวะต่างๆ (persistent infection), การติดเชื้อแล้วทำให้อวัยวะหรือระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติไปจากเดิม (dysfunction from viral damage), การเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรังต่อเนื่อง (chronic inflammation), การทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (autoantibody), และการเสียสมดุลของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่อยู่ในทางเดินอาหารจนนำไปสู่ความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Dysbiosis)

ด้วยข้อมูลข้างต้น ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกตัว หยุดเรียนหยุดงาน และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

คนที่ติดเชื้อแล้ว ก็ยังต้องป้องกันตัว เพราะติดเชื้อซ้ำได้ และแม้รักษาหายแล้วในช่วงแรก ก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหา Long COVID จึงควรหมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง หากผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา

หมอธีระ เผยข้อมูล ติดโควิดไม่ใช่แค่ทางเดินหายใจ เทียบทั่วโลกไทยสูงมาก