สธ. เผยพบเสี่ยง "เดลตาครอน" 73 ราย รอยืนยัน

23 มีนาคม 2565

กระทรวงสาธารณสุข เผยพบเสี่ยง "เดลตาครอน" 73 ราย รอ GISAID วิเคราะห์ยืนยัน ยังไม่พบแพร่เร็ว รุนแรง หรือหลบภูมิคุ้มกัน

วันนี้ (23 มีนาคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ระหว่างวันที่ 12-18 มีนาคม 2565 จำนวน 1,982 ราย พบสายพันธุ์เดลตาเพียง 1 ราย คิดเป็น 0.05% ที่เหลือ 1,981 รายเป็นสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็น 99.95% โดยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแพร่เร็วกว่า แต่ยังไม่พบความแตกต่างเรื่องความรุนแรง ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจประชาชนทั่วไป ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ผู้ที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่มีค่า CT ต่ำหรือมีเชื้อในร่างกายมาก กลุ่มคลัสเตอร์ 50 คนขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดส พบว่ามีสัดส่วนการติดเชื้อ BA.2 ใกล้เคียงกันทุกกลุ่ม

สธ. เผยพบเสี่ยง เดลตาครอน 73 ราย รอยืนยัน

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า ส่วนกรณี "เดลตาครอน" เป็นการผสมกัน (Recombinant) ระหว่างเชื้อ 2 ตัวจนเกิดสายพันธุ์ที่ลักษณะเหมือนกับเชื้อทั้ง 2 ตัว คือ โอมิครอน BA.1 และเดลตา AY.4 ทั่วโลกมีการรายงานเข้า GISAID ประมาณ 4 พันกว่าราย แต่ GISAID วิเคราะห์ ตรวจสอบและยอมรับอย่างเป็นทางการ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย ที่เหลืออีก 4 พันกว่าราย ซึ่งรวมข้อมูลที่ไทยส่งเข้าไปด้วย 73 ราย ยังต้องรอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าใช่เดลตาครอนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการตรวจพบเดลตาครอนของไทยเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2564 - มกราคม 2565 ซึ่งยังมีทั้งเดลตาและโอมิครอน ทำให้มีโอกาสเกิดลูกผสมได้มาก

 

สธ. เผยพบเสี่ยง เดลตาครอน 73 ราย รอยืนยัน

"ผู้ป่วยจากเดลตาครอนทั้ง 73 ราย รักษาหายดีแล้ว ไม่มีผู้เสียชีวิต และขณะนี้ในประเทศไทยแทบไม่มีสายพันธุ์เดลตาให้ไปเกิดลูกผสมกับโอมิครอนได้ และองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เดลตาครอนเป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตามข้อมูลเท่านั้น ยังไม่ได้จัดเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจหรือน่ากังวล รวมถึงยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่ได้เร็ว ความรุนแรง หรือความสามารถในการหลบภูมิ คุ้มกัน ดังนั้นจึงยังไม่ต้องกังวล และมาตรการป้องกันต่างๆ ยังใช้ป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ รวมถึงกลุ่มเสี่ยง 608 ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น" นพ.ศุภกิจกล่าว