svasdssvasds
ผลวิจัย เผย "โอไมครอน BA.2 อันตราย" แพร่เชื้อไว กระจายได้ดีในจมูก ทำปอดแย่อีก

ผลวิจัย เผย "โอไมครอน BA.2 อันตราย" แพร่เชื้อไว กระจายได้ดีในจมูก ทำปอดแย่อีก

20 ก.พ. 2565 เวลา 11:48 น.294

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ เผยผลศึกษาโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 อันตรายแพร่เชื้อไว กระจายได้ดีในจมูก ทำปอดแย่

จากกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้ โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นต่อเนื่อง 

ผลศึกษาโอมิครอน BA.2 อันตราย กระจายได้ดีในจมูก ทำปอดแย่

ล่าสุดทางด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสต์ถึงสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ผ่านทาง Blockdit "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุว่าล่าสุด ญี่ปุ่นพบว่าไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 (BA.2) ก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์ย่อยที่ 1 (BA.1) ในหนูแฮมสเตอร์


นับจากมีไวรัสโอมิครอนแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยมีความสามารถในการแพร่ที่รวดเร็วกว่าไวรัสเดลต้า แต่มีความรุนแรงน้อยกว่านั้น


ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา มีข้อมูลเบื้องต้นสรุปได้ว่า


1. มีไวรัสสายพันธุ์ย่อยอยู่ 3 สายพันธุ์คือ BA.1 , BA.2 , BA.3
 

2. BA.1 เป็นหลัก โดยมี BA.2 เป็นลำดับที่ 2


3. BA.2 มีลักษณะเด่นคือ แพร่เร็วกว่า BA.1 มากถึง 30% ทำให้ขณะนี้แพร่ไปแล้ว 74 ประเทศ และ 47 รัฐของสหรัฐฯ


4. มีถึง 10 ประเทศ ที่มีสายพันธุ์ย่อย BA.2 เป็นสายพันธุ์หลักประกอบด้วย บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล เดนมาร์ก ฟิลิปปินส์ จีน บูรไน กวม และมอนเตรเนโก


5.BA.2 มีความสามารถในการดื้อต่อวัคซีนพอๆกับ BA.1 ทำให้ต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ 74% (ของไทยคือ 68%)


6. มีความสามารถในการก่อโรคที่มีอาการรุนแรงพอกันกับ สายพันธุ์ย่อย BA.1 แต่มีข้อมูลในประเทศเดนมาร์กที่พบว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นทำให้นอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แตกต่างกับแอฟริกาใต้และอังกฤษการนอนโรงพยาบาลไม่ได้เพิ่มขึ้น
 

7. มีการดื้อต่อการรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น ภูมิคุ้มกันแบบ Monoclonal Antibody

 

ผลศึกษาโอมิครอน BA.2 อันตราย กระจายได้ดีในจมูก ทำปอดแย่

 

affaliate-2

นอกจากนี้ นพ.เฉลิมชัย ยังระบุอีกว่า ขณะนี้มีรายงานการศึกษา โอมิครอน BA.2  ของญี่ปุ่นจากหลายสถาบัน หนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้รายงานเบื้องต้นว่า


1. BA.2 อาจจะไม่ใช่สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน แต่ควรจะนับเป็นสายพันธุ์หลักชนิดใหม่ และใช้ชื่ออักษรกรีกลำดับใหม่ ความเห็นนี้สอดคล้องกับ Dr.D.Rhoads ซึ่งเป็นนักไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน


2. จากการศึกษาในหนูแฮมสเตอร์ พบว่าสายพันธุ์ BA.2 ก่อให้เกิดโรคที่มีอาการหนักกว่าสายพันธุ์ BA.1 ทำให้สมรรถภาพปอดแย่ลง มีการแบ่งตัวในเซลล์จมูกเร็วกว่า จึงทำให้มีความสามารถในการแพร่เชื้อที่ง่ายกว่าด้วย


อย่างไรก็ตามความรุนแรงของโรคจะมีมากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ ความร้ายแรงของไวรัสเอง และระดับภูมิคุ้มกันของมนุษย์


ถ้า BA.2 มีความร้ายแรงในมนุษย์จริงก็ไม่ได้แปลว่า จะก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าเสมอไป  เพราะขณะนี้จำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนมีเป็นจำนวนมากเกินกว่า 10,000 ล้านโดสแล้ว  ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อาการไม่รุนแรงมากเท่ากับความร้ายแรงของไวรัสที่เพิ่มขึ้น


มนุษย์คงจะต้องติดตามศึกษาเรื่องคุณลักษณะต่างๆของไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ที่มีการกลายพันธุ์อยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาต่อไป ไม่สามารถที่จะวางใจได้ว่า โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือมีความรุนแรงน้อยลง จนไม่มีผลกระทบขนาดใหญ่ เพราะถ้าไวรัสกลายพันธุ์ไปในทิศทาง ที่แพร่เชื้อเร็ว ดื้อต่อวัคซีนมาก และก่อโรครุนแรง ก็จะเกิดการระบาดขนาดใหญ่ทั่วโลก และโควิด-19 ก็จะอยู่ต่อเนื่องไปอีก ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะนานเท่าใด แต่ก็มีโอกาสอยู่บ้างเช่นกัน ที่การ กลายพันธุ์ จะทำให้ไวรัสแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่สร้างความรุนแรงน้อยลง ก็จะเป็นโชคดีของมนุษยชาติ

ข่าวล่าสุด
ข่าวที่น่าสนใจ