ครม. เคาะ ต่อเวลาสินเชื่อออมสิน "สู้ภัย COVID-19" ขยายเวลาช่วย SMEs ทุกกลุ่ม

05 มกราคม 2565

ครม. เคาะ ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการ Soft Loan ออมสิน ขยายช่วย SMEs ทุกกลุ่มที่กระทบจากโควิด ต่อเวลาสินเชื่อสู้ภัย COVID - 19 ถึง 30 ก.ย. 65

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของธนาคารออมสิน หรือ โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท (ปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 แสนบาท ดอกเบี้ย ร้อยละ 3.99 ต่อปี ไม่ต้องมีหลักประกัน)

ครม. เคาะ ต่อเวลาสินเชื่อออมสิน สู้ภัย COVID-19 ขยายเวลาช่วย SMEs ทุกกลุ่ม

โดยขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการให้ครอบคลุมธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ ผู้ผลิตรายย่อย ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก เพื่อให้ SMEs ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มเป้าหมาย SMEs ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ Supply Chain อาทิ ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2564 โดยที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อโครงการไปแล้ว จำนวน 4,137 ราย รวมเงินทั้งสิ้น 1,746 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีกจำนวน 3,254 ล้านบาท จากวงเงินรวมทั้งโครงการ 5,000 ล้านบาท

 

พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID - 19 (กลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร) จากเดิมที่มีกำหนดระยะเวลารับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ซึ่งธนาคารออมสินได้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อตามมาตรการฯ ไปแล้ว จำนวน 820,380 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 8,204 ล้านบาท และยังมีวงเงิน คงเหลืออีกจำนวน 1,796 ล้านบาท วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์อนุมัติสินเชื่อตามมาตรการฯ ไปแล้ว จำนวน 28,911 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 288 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีก จำนวน 9,712 ล้านบาท จากวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท

ครม. เคาะ ต่อเวลาสินเชื่อออมสิน สู้ภัย COVID-19 ขยายเวลาช่วย SMEs ทุกกลุ่ม

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเริ่มกลับมาดำเนินกิจการ/กิจกรรมตามปกติ ดังนั้น การขยายระยะเวลาคำขอรับสินเชื่อจะช่วยเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้