ราชทัณฑ์ แจงปมร้อน "ลดโทษผู้ต้องขัง" เอื้อสิทธิพิเศษต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม

10 ธันวาคม 2564

ราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจง ประเด็นร้อนที่สังคมตั้งคำถาม ถึงการลดโทษผู้ต้องขัง อาจให้สิทธิพิเศษต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม

จากกรณี วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2564 นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสสังคม ตั้งคำถามผ่านสื่อต่าง ๆ ถึงหลักเกณฑ์การอภัยโทษว่าอาจมีการให้สิทธิพิเศษต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม นั้น กรมราชทัณฑ์ ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอภัยโทษ รวมถึงการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ ว่าการอภัยโทษมีการสืบทอดเป็นโบราณราชประเพณีเนื่องในโอกาสสำคัญของบ้านเมือง เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้กลับตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ

ราชทัณฑ์ แจงปม ลดโทษผู้ต้องขัง อาจให้สิทธิพิเศษต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม

ส่วนกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่ากรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาล ขอชี้แจงว่า การพิพากษากำหนดโทษเป็นอำนาจของศาล ในส่วนการบริหารโทษ เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ภายใต้อำนาจของกฎหมาย

หลักเกณฑ์ในการที่นักโทษจะได้รับอภัยโทษ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี ตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป ส่วนจะได้รับการลดโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชั้นและประเภทคดีเป็นสำคัญ โดยจะได้รับการลดโทษตามหลักเกณฑ์ คือ

คดีอาญาทั่วไป
ชั้นเยี่ยม  1 ใน 2
ชั้นดีมาก     1 ใน 3
ชั้นดี          1 ใน 4
ชั้นกลาง     1 ใน 5

คดีอาญาร้ายแรง
ชั้นเยี่ยม       1 ใน 3
ชั้นดีมาก      1 ใน 4
ชั้นดี         1 ใน 5
ชั้นกลาง       1 ใน 6

คดียาเสพติดรายย่อย
ชั้นเยี่ยม      1 ใน 5
ชั้นดีมาก     1 ใน 6
ชั้นดี          1 ใน 7
ชั้นกลาง     1 ใน 8

คดียาเสพติดรายใหญ่
ชั้นเยี่ยม      1 ใน 6
ชั้นดีมาก     1 ใน 7
ชั้นดี          1 ใน 8
ชั้นกลาง     1 ใน 9

ราชทัณฑ์ แจงปม ลดโทษผู้ต้องขัง อาจให้สิทธิพิเศษต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม

 

โดยตัวอย่างการคำนวณการลดโทษ สำหรับคดีอาญาทั่วไป นักโทษเด็ดขาดชาย ก. อยู่ในชั้นเยี่ยม กำหนดโทษจำคุก 30 ปี จะได้ลด 1 ใน 2 ตามเกณฑ์ข้างต้น คือจะได้ลด 15 ปี ดังนั้น จึงเหลือกำหนดโทษจำคุกอีก 15 ปี แต่หากเป็นคดีอาญาร้ายแรง ถ้านักโทษเด็ดขาดชาย ก. เป็นผู้กระทำผิดในคดีอาญาร้ายแรง มีกำหนดโทษจำคุก 30 ปี และเป็นชั้นเยี่ยมเช่นเดียวกัน จะได้รับการลดโทษ 1 ใน 3 คือจะได้ลด 10 ปี ดังนั้น จึงเหลือกำหนดโทษจำคุกอีก 20 ปี

ด้านกรณีของนายบุญทรงฯ คดีจำนำข้าวที่ปรากฏเป็นข่าว ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรง ศาลได้ตัดสินจำคุก มีกำหนดโทษ 48 ปี และได้รับการอภัยโทษจำนวน 4 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 15 สิงหาคม 2563 ได้ลดโทษ 12 ปี (ลดโทษ 1 ใน 4 ชั้นดีมาก) เหลือโทษจำคุก 36  ปี
ครั้งที่ 2 วันที่ 5 ธันวาคม 2563 ได้ลดโทษ 12 ปี (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 24  ปี
ครั้งที่ 3 วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ได้ลดโทษ 8 ปี (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 16  ปี
ครั้งที่ 4 วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ได้ลดโทษ 5 ปี 4 เดือน (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน

ราชทัณฑ์ แจงปม ลดโทษผู้ต้องขัง อาจให้สิทธิพิเศษต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม

กรมราชทัณฑ์ ขอให้สังคมและประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และจะปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนด้วยความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ต้องขังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ พร้อมให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดทุกคนได้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

ราชทัณฑ์ แจงปม ลดโทษผู้ต้องขัง อาจให้สิทธิพิเศษต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews