กระทรวงการต่างประเทศ แจงแล้ว หลังว่อน สหประชาชาติ ให้เวลา 2 เดือน แก้ไข ม.112

26 พฤศจิกายน 2564

จากการเผยแพร่คลิปวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อง สหประชาชาติ กำหนดเวลา 2 เดือน ให้ประเทศไทยแก้ไข ม.112 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้ว

โดยในช่อง YouTube ช่องหนึ่ง ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอในหัวข้อ ยุ่งแล้ว “สหประชาชาติ” ขีดเส้น 2 เดือน “แก้ไข” ม.112 เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นั้น ทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตรวจสอบคลิปดังกล่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

สหประชาชาติ กำหนดเวลา 2 เดือน ให้ประเทศไทยแก้ไข ม.112

1. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 หน่วยราชการไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา และหน่วยราชการ 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอรายงานสิทธิมนุษยชนของไทยต่อสหประชาชาติ ภายใต้กระบวนการทบทวนรายงานสิทธิมนุษยชนตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นการนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ทุกประเทศต้องทำทุก 4 ปี ครึ่ง และเป็นกระบวนการเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากประเทศต่าง ๆ (peer review) โดยสามารถแจ้งตอบรับข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไปได้โดยสมัครใจ โดยกลไกดังกล่าวไม่มีการบังคับและสหประชาชาติไม่ได้เป็นองค์การที่จะมาบังคับ หรือมาขีดเส้นตายกำหนดเวลาให้ประเทศสมาชิกต้องตอบรับข้อเสนอแนะหรือต้องไปแก้กฎหมาย

2. ในการรายงานสิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก UPR ครั้งนี้ ไทยได้รับคำชมในพัฒนาการหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำ และการดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งการส่งเสริมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะรวมกว่า 270 ข้อ จาก 106 ประเทศ โดยในจำนวนนี้ ก็มี 11 ประเทศ ที่มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยทบทวนการบังคับใช้ หรือพิจารณาปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

3. ตามแนวปฏิบัติของกระบวนการ ทุกประเทศสามารถนำข้อเสนอแนะไปหารือกับหน่วยงานผู้ปฏิบัติ และแจ้งสหประชาชาติภายใน 90 วันหลังการเสนอรายงานว่า จะตอบรับข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปฏิบัติ หรือจะรับทราบ ทั้งนี้ กำหนดเวลาในการแจ้งตอบรับดังกล่าวมีผลเหมือนกันทุกประเทศที่ได้นำเสนอรายงาน UPR ในการประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 39 พร้อมกับไทย (ได้แก่ กรีซ ซูรินาเม ซามัว ฮังการี ซูดาน เซนต์วินเซนต์แอนด์เกรนาดีน ปาปัวนิวกินี ทาจิกิสถาน แทนซาเนีย เอสวาทินี แอนติกัวแอนด์บาบูดา ตรินิแดดแอนด์โตเบโก ไอร์แลนด์)

4. ในส่วนของประเทศไทย คณะผู้แทนไทยได้แจ้งตอบรับข้อเสนอแนะกว่าครึ่งที่ได้รับจากประเทศต่าง ๆ โดยทันที ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะในด้านต่าง ๆ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การปราบปรามการค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น ส่วนข้อเสนอแนะบางเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน หรือจำเป็นต้องพิจารณาและหารือเพิ่มเติมอย่างรอบคอบ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะนำมาพิจารณาต่อไป

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สามารถติดตามได้ที่ www.mfa.go.th หรือโทร 02 2035000

สรุป : ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด กระบวนการเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากประเทศต่าง ๆ สามารถแจ้งตอบรับข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปฏิบัติต่อได้โดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับ และสหประชาชาติไม่ได้เป็นองค์การที่จะมาบังคับ หรือมาขีดเส้นตายกำหนดเวลาให้ประเทศสมาชิกต้องตอบรับข้อเสนอแนะหรือต้องไปแก้กฎหมาย ส่วนข้อเสนอแนะบางเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน หรือจำเป็นต้องพิจารณาและหารือเพิ่มเติมอย่างรอบคอบ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะนำมาพิจารณาต่อไป

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ขอบคุณ : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

สหประชาชาติ กำหนดเวลา 2 เดือน ให้ประเทศไทยแก้ไข ม.112