"ตำรวจ"แนะ เอากระดาษทรายขูดเลขหลังบัตรออก เพื่อความปลอดภัย

18 ตุลาคม 2564

"ตำรวจ"เผย มิจฉาชีพจะจดจำตัวเลข 3 ตัวที่อยู่หลังบัตร แนะนำ ปิด หรือ เอากระดาษทรายขูดเลขหลังบัตรออก เพื่อความปลอดภัย

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผบก.ตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่มิจฉาชีพจะจดจำตัวเลข 3 ตัวที่อยู่หลังบัตร ตรงนี้จะเป็นข้อมูลที่เก็บสะสมไปเรื่อยๆ แล้วคนร้ายจะเอาตรงนี้ไปขาย อีกส่วนคือประชาชนเองอาจจะผูกข้อมูลไว้กับแอปพลิเคชัน กับการทำธุรกรรมต่างๆ เอาไว้ โอกาสที่ข้อมูลเหล่านี้จะรั่วจากระบบต่างๆ ที่ประชาชนเคยไปผูกเอาไว้ ก็มีความเป็นไปได้ ดังนั้นหนทางที่ข้อมูลจะรั่วไหล มีหลายช่องทาง

นอกจากนี้ล่าสุดยังมีอีกช่องทางหนึ่งก็คือว่า มีการส่งอีเมล์ ส่งลิงค์มาหลอกประชาชนว่า เราได้รับพัสดุจากไปรษณีย์ไทย แต่เนื่องจากมาจากต่างประเทศ ยังไม่ได้เสียภาษี ให้เรากรอกข้อมูลบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตลงไปแล้วเขาจะหลอกเอาข้อมูลของเราไปทั้งหมด เป็นข้อมูลที่อยู่หน้าบัตร ตัวเลขหน้าบัตร และข้อมูลความปลอดภัย ที่อยู่หลังบัตรด้วย นี่คือช่องทางหลักๆ ที่ข้อมูลจะรั่วไหลออกไป

 

ส่วนในขณะนี้มีผู้เสียหายแล้วประมาณ 20,000 คน  พล.ต.ต.นิเวศน์ แนะนำให้ประสานกับธนาคาร แจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่ถูกใช้ไป เราไม่ได้เป็นคนใช้ ซึ่งขณะนี้ ธนาคารออกมาให้ข้อมูลยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือและจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตัวนี้ให้ เพราะทราบดีว่า เกิดจากกลไกที่มีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ เมื่อมีการนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ ทำธุรกรรมที่มีมูลค่าไม่สูง เช่น กรณีที่เกิดขึ้นมีมูลค่าไม่เกิน 100 บาท จึงไม่ต้องใช้ OTP แจ้งเตือน จึงทำให้คนร้ายทำธุรกรรมจำนวนน้อยๆ หลายครั้ง จนเกิดความเสียหาย

ข้อแนะนำเพื่อป้องกันคือ ไม่ควรเอาบัตรไปผูกติดกับแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งเขามักอ้างว่าเพื่อความสะดวก ซึ่งเมื่อเราใช้เสร็จให้เอาข้อมูลของเราออกจากระบบ อันนี้อันแรก อย่างที่สอง เมื่อเราจะเอาบัตรไปใช้ จะต้องมีการปกป้องรหัสความปลอดภัยที่อยู่หลังบัตร วิธีการง่ายที่สุดคือ เอาสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดทับเลข 3 ตัวหลังบัตรเอาไว้ หรืออีกวิธีก็คือ ถ่ายรูปเลข 3 ตัวนี้เอาไว้ แล้วเอากระดาษทรายขัดตัวเลขนี้ออกไปจากหลังบัตร ตัวเลขนี้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ไม่สามารถไปแก้ไขตรงนี้ได้ เพราะมันเป็นเรื่องสากล ก็ต้องใช้วิธีการปกป้องตัวเอง

ลบเลขหลังบัตร

 

เช่นเดียวกับ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ประชาชนถูกดูดเงิน ผ่านบัตรเดบิตหรือผ่านบัตรเครดิตในรายการที่ไม่ได้สั่งซื้อว่ามีหลายสาเหตุที่ข้อมูลอาจจะมีการรั่วไหล เงินหายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น

-การใช้บัตรเครดิต ซื้อไอเทมในเกม

-ข้อมูลหลังบัตรเดบิตถูกมิจฉาชีพเอาไปใช้ เช่น การรูดบัตรในสถานีบริการน้ำมัน หรือ ร้านค้าต่างๆ

-มิจฉาชีพ ดักรับโอทีพีที่มือถือของผู้เสียหาย อาจเกิดจากกรณีที่ผู้ถือบัตรโหลดแอปฯเถื่อน

คำแนะนำในการป้องกันไม่ให้ข้อมูลจากบัตรเดบิต บัตรเครดิตรั่วไหล ควรลบข้อมูลเลขหลังบัตร เลือกร้านที่สั่งซื้อของไว้ใจได้ การซื้อของออนไลน์ พยายามหรืออย่าไปผูกข้อมูลกับบัตรเดบิต ซึ่งการสอบสวนหาคนร้ายเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เป็นเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ในทางปฎิบัติต้องใช้เวลา   

ลบรหัสหลังบัตร

CR.JS100