กองปราบฯ - กรมศิลปากร ตรวจสอบร้านค้าโบราณวัตถุ หลังพบวัตถุคล้ายปืนใหญ่

16 กันยายน 2564

กองปราบปราม ร่วมกับ กรมศิลปากร เข้าตรวจสอบร้านค้าโบราณวัตถุ แถวกรุงเทพฯและนนทบุรี หลังพบวัตถุคล้ายปืนใหญ่ 7 กระบอก

กองบังคับการปราบปราม ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป., พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป., พ.ต.ท.สาธิต สมานภาพ, พ.ต.ท.อัครพล มณีวรรณ, พ.ต.ท.ศราวุธ จันต๊ะวงค์, พ.ต.ท.อลงกต คชแก้ว และ พ.ต.ท.ก่อเกียรติ วุฒิจำนงค์ รอง ผกก.กก.๑ บก.ป.

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.๑ บก.ป. นำโดย พ.ต.ท.จักรี กันธิยะ, พ.ต.ท.เจตนิพัทธ์ ศิริวัฒน์, พ.ต.ต.ทัตพร เลขะวัฒนพงษ์ สว.กก1.บก.ป., ร.ต.อ.ก่อเกียรติ เกียรติตั้ง, ร.ต.อ.เลอสันต์ พรมชื่น, ร.ต.อ.เกียรติบดินทร์ วงค์งาม, ร.ต.อ.รัฐชิน เจริญรัมย์, ร.ต.ท.สพงษ์ธรรศน์ แก้วจุนันท์ รอง สว.กก.1 บก.ป., ร.ต.อ.อุปถัมป์ ลื้อยอดพิทักษ์, ร.ต.ท.อาทิตย์ ศุภนคร, ว่าที่ ร.ต.ต.ฤทธิ์ ปานทอง รอง สว.(ป.) กก.1.บก.ป. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป. เข้าทำการตรวจค้น ร้านค้าที่มีการจำหน่าย และเก็บรักษาโบราณวัตถุ จำนวน 3 จุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 2 จุด และพื้นที่ จ.นนทบุรี จำนวน 1 จุด

ตรวจสอบร้านค้าโบราณวัตถุ

พฤติการณ์ เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับปราบปรามได้รับแจ้งจากเพจเฟซบุ๊ค “กองปราบปราม” ให้ช่วยตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ซึ่งมีการขายสินค้าประเภทโบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีการประกาศขายกันอย่างโจ่งแจ้ง ปรากฏข้อความชวนเชื่อให้ผู้คนทั่วไปเกิดความสนใจและมีการจำหน่ายในราคาที่ค่อนข้างสูง

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก. 1 บก.ป. จึงได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า ร้านดังกล่าวมีการประกาศขายโบราณวัตถุจริง และเปิดร้านจำหน่ายสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีการเก็บรักษาสินค้าไว้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.นนทบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก. 1 บก.ป. จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 สถานที่ เพื่อเข้าทำการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่

จนกระทั่งวันที่ 15 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.๑ บก.ป. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้ทำการตรวจค้นร้านค้าที่มีการจำหน่าย และสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุฯ จำนวน 3 จุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 2 จุด และพื้นที่ จ.นนทบุรี จำนวน 1 จุด โดยเมื่อไปถึงได้พบกับนายยืนยงฯ แสดงตัวเป็นเป็นเจ้าของสถานที่ทั้งหมด และพาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบโบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ทั้งสิ้น 7 กระบอก โดยนายยืนยงฯ ให้การรับว่าตนเป็นผู้ครอบครองด้วยตนเองทั้งหมด และเปิดขายที่บริเวณหน้าร้าน ถนนบรมราชชนนี แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ มานานกว่า 8 ปี โดยโบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ทั้งหมดนำเข้ามาจากต่างประเทศ กำหนดราคาตามขนาด ซึ่งกระบอกเล็กขายในราคาประมาณ 50,000 – 100,000 บาท และกระบอกใหญ่ขายในราคา 100,000 – 200,000 บาท นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฯ ยังตรวจพบว่ายังมีการขายสินค้าประเภทอื่นๆ อีกด้วย

ตรวจสอบร้านค้าโบราณวัตถุ

โดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ทำการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า โบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ทั้งหมด เป็นวัตถุที่ทำเทียม เลียนแบบขึ้นมา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ฯ จะนำไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันอีกครั้ง หากพบว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฯ ยังตรวจสอบพบว่าร้านค้าดังกล่าวไม่ได้ทำการขออนุญาตทำการค้าตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจมีความผิดตาม พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 19 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

จากการสอบถามจากนายยืนยงฯ รับว่าโบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ ที่ตนครอบครองนั้น ตนได้ติดต่อซื้อมาจากคนรู้จัก และในส่วนของกรณีที่พบโบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียนั้น นายยืนยงฯ ให้การว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากมีบุคคลเข้ามาติดต่อว่าจะช่วยโปรโมทขายสินค้าทางออนไลน์ให้ โดยให้นายยืนยงฯ ตั้งราคาไว้ระดับหนึ่ง และบุคคลดังกล่าวจะนำไปขายราคาเท่าไรก็ได้ตามแต่จะกำหนด โดยนายยืนยงฯ ไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวจะขายให้กับลูกค้าในราคาเท่าไร แต่หลังจากนั้นได้มีลูกค้าสนใจซื้อสินค้าผ่านบุคคลดังกล่าวจริง ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว นายยืนยงฯ ตรวจสอบดูแล้วพบว่าบุคคลดังกล่าวได้ให้รายละเอียดกับลูกค้าเกินความเป็นจริง

กองบังคับการปราบปรามจึงขอฝากเตือนประชาชน ในกรณีที่จะประกอบกิจการใดๆ ท่านควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และนำมาใช้กับกิจการของตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากการประกอบกิจการใดๆ ได้กระทำลงไปโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย จะถือว่าเป็นความผิด ต้องรับโทษตามกฎหมาย

ตรวจสอบร้านค้าโบราณวัตถุ

ภาพและข้อมูลจาก กองปราบปราม

ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews