เตือน "กินหมูดิบ" เสี่ยงไข้หูดับ อาจพิการถาวร หนักสุดถึงขั้นเสียชีวิต

12 กันยายน 2564

อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือน "กินหมูดิบ" เสี่ยงโรคไข้หูดับ อาจพิการถาวร หนักสุดถึงขั้นเสียชีวิต

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หูดับ 5 อำเภอ ในจังหวัดน่านเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 (สคร. 1) จ.เชียงใหม่ มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการลงสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เบื้องต้นพบผู้ป่วย 12 ราย อายุ 50-86 ปี เป็นเพศชาย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย และมีอาการหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 2 ราย เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ทุกรายมีประวัติรับประทานเนื้อหมูดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ ที่ซื้อมาจากรถเร่วิ่งขายในหมู่บ้าน ผลการตรวจเลือดพบการติดเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือที่เรียกกันว่า ไข้หูดับ สำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคนี้และจะมีอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวาย โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ

ด้านนายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม - 5 กันยายน 2564 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 115 ราย เสียชีวิต 2 ราย จึงเร่งป้องกันปัญหาด้วยการให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน และน่าน

นายแพทย์สุเมธ กล่าวอีกว่า เชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส จะอยู่ที่โพรงจมูกและอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย และสามารถติดเชื้อสู่คนได้ ทั้งนี้ หลังติดเชื้อ 1-3 วัน จะมีอาการป่วยที่พบได้บ่อย คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการสำคัญ เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ คอแข็ง อาเจียน สับสน ส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกถาวร หากมีอาการดังกล่าว ต้องรีบพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้แพทย์ทราบ จะช่วยให้วินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว สำหรับวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ มีดังนี้ 

เตือน กินหมูดิบ เสี่ยงไข้หูดับ

1. ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ เช่น ตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ควรแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน และไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน

2. ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อผ้าที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

เตือน กินหมูดิบ เสี่ยงไข้หูดับ

ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews