อาการข้างเคียงหลังโดนพิษ "แมลงก้นกระดก" ภัยร้ายในช่วงหน้าฝน

11 กันยายน 2564

กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ ให้ความรู้เกี่ยวกับ "ด้วงก้นกระดก" หรือ "แมลงก้นกระดก" ที่พร้อมปล่อยสารพิษใส่ผิวหนังเรานั้น สามารถส่งผลกับร่างกายของเราได้อย่างไร

ในช่วงฤดูฝนเราอาจจะพบเห็นแมลงก้นกระดกได้ง่ายตามบริเวณที่มีความชื้นสูง หลายท่านอาจเผลอไปสัมผัสเจ้าด้วงชนิดนี้กันมาบ้างแล้ว วันนี้กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ มีข้อมูลเกี่ยวด้วงชนิดนี้มาให้ทุกท่านได้ทราบกัน รวมถึงวิธีการแก้พิษหากเราไปสัมผัสโดยไม่ทันระวัง...

ด้วงก้นกระดก (The Rove Beetle) เป็นด้วงขนาดเล็ก เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว มักจะงอส่วนท้องส่ายขึ้นลงเมื่อเกาะอยู่กับพื้น ด้วงก้นกระดกอาศัยอยู่ในพงหญ้า หรือหนองน้ำที่รกชื่น โดยจะออกมาเล่นไฟในเวลากลางคืน

หากเราไปสัมผัสโดนตัวของด้วงก้นกระดก มันก็จะปล่อยสาร พีเดอรีน ทำให้รู้สึกคัน หรือปวดแสบปวดร้อน อาจมีรอยไหม้ และตุ่มน้ำพอง ในบางรายที่แพ้พิษอาจมีอาการรุนแรง เช่น พุพองเป็นวงกว้าง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูงได้

 แมลงก้นกระดก

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้หลีกเลี่ยงใช้มือบี้หรือสัมผัสตัวแมลง หากโดนตัวแล้วให้รีบล้างผิวด้วยสบู่หรือน้ำสะอาด ประคบผิวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หากแผลลุกลามควรรีบพบแพทย์ทันที

การป้องกันภัยจากด้วงก้นกระดก คือ กลางคืนไม่ควรเปิดไฟทิ้งไว้ ในพื้นที่ที่มีด้วงชนิดนี้ควรนอนกลางมุ้ง หรือติดมุ้งลวดตาถี่ๆก็จะช่วยได้

อาการข้างเคียงหลังโดนพิษ "แมลงก้นกระดก"

ที่มา : กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้