"หมอธีระ"คาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง เห็นแล้วขนลุก

05 กันยายน 2564

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19  และคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19  ระบุว่า 

สถานการณ์ทั่วโลก 5 กันยายน 2564...

ทะลุ 221 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 473,141 คน รวมแล้วตอนนี้ 221,072,306 คน ตายเพิ่มอีก 7,617 คน ยอดตายรวม 4,573,988 คน

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร บราซิล และฟิลิปปินส์

อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 58,486 คน รวม 40,765,160 คน ตายเพิ่ม 569 คน ยอดเสียชีวิตรวม 665,504 คน อัตราตาย 1.6%

อินเดีย ติดเพิ่ม 42,924 คน รวม 32,987,615 คน ตายเพิ่ม 311 คน ยอดเสียชีวิตรวม 440,567 คน อัตราตาย 1.3%

บราซิล ติดเพิ่ม 21,804 คน รวม 20,877,864 คน ตายเพิ่ม 609 คน ยอดเสียชีวิตรวม 583,362 คน อัตราตาย 2.8%

รัสเซีย ติดเพิ่ม 18,780 คน รวม 6,993,954 คน ตายเพิ่ม 796 คน ยอดเสียชีวิตรวม 186,407 คน อัตราตาย 2.7%

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 37,578 คน ยอดรวม 6,941,611 คน ตายเพิ่ม 120 คน ยอดเสียชีวิตรวม 133,161 คน อัตราตาย 1.9%

หมอธีระ คาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อาร์เจนติน่า อิหร่าน และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 89.52 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน

แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง

ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ติดเพิ่มกันหลักหมื่น

ส่วนเวียดนาม เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา ลาว และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ไต้หวันติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...ภาพรวมทั่วโลก

ลักษณะกราฟการระบาดที่แสดงจำนวนการเพิ่มในแต่ละวันของสายพันธุ์เดลต้ามีความคล้ายกับของสายพันธุ์ G ที่ระบาดเมื่อปลายปีก่อนถึงต้นปีที่ผ่านมามากทีเดียว โดยจำนวนเสียชีวิตน้อยลงราว 30% ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความรู้ทางการดูแลรักษา หยูกยา และวัคซีนที่มีใช้มากขึ้น

หากมองไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มีแนวโน้มที่ระลอกเดลต้านี้จะเหมือนระลอกสายพันธุ์ G ที่จะปะทุรุนแรงมากขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะมีหลายต่อหลายประเทศที่เจอการระบาดรุนแรง แล้วหันมาใช้มาตรการที่จำนนต่อโรค ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ จึงผ่อนคลายการควบคุม ให้เศรษฐกิจดำเนินไป และเดิมพันกับวัคซีนว่าจะช่วยให้การคุมการระบาด ลดป่วย ลดตาย ดังที่เห็นแคมเปญประเภทให้ทำใจอยู่กับโรค หรือสมดุลชีวิตใหม่มีทั้งโรคและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดความสูญเสียตามมาต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการติดเชื้อ การเจ็บป่วย การเสียชีวิต

แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังตั้งมั่นที่จะตัดวงจรการระบาดให้ได้ ด้วยการยืนหยัดบนยุทธศาสตร์ Elimination and vaccination เพราะรู้ว่าการปล่อยให้ติดไปเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้างที่เสียหายมากมายมหาศาล ในขณะที่วัคซีนยังมีจำกัด ฉีดได้ไม่ครอบคลุมเพียงพอ ความเสี่ยงจะสูงมากหากเลือกยุทธศาสตร์ยอมจำนนให้คนอยู่กับไวรัสในขณะนี้

ดังนั้น จึงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า ไตรมาสสุดท้ายน่าจะมีการระบาดที่หนักขึ้นต่อเนื่องจากปัจจุบัน โดยมีเหตุจากยุทธศาสตร์ยอมจำนนต่อโรคและทำมาหากิน

...พิจารณาแต้มต่อ ว่าจะรอดหรือไม่รอด

แต่ละประเทศมีความเข้มแข็งไม่เท่ากัน นี่คือสัจธรรม

ประเทศที่เลือกทำมาหากินแล้วจะรอดพ้นจากความสูญเสียนั้น จำเป็นต้องมีความเข้มแข็งของระบบสนับสนุน ได้แก่ มีระบบการตรวจคัดกรองโรคที่มีศักยภาพทำได้มาก ต่อเนื่อง มีมาตรฐาน, มีระบบการดูแลรักษาที่สามารถรองรับเหตุการณ์ยามฉุกเฉินที่มีการระบาดปะทุขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนเงินของหยูกยาอุปกรณ์ต่างๆ มากเพียงพอ, และมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง และปริมาณเพียงพอสำหรับทุกคนในประเทศ นอกจากนี้ยังต้องมีนโยบายและมาตรการที่ดี โดยมีระบบการสื่อสารสาธารณะที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทันต่อเวลา ให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันสถานการณ์ และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

หากประเทศใดมีระบบสนับสนุนต่างๆ มีปัญหา ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ การเลือกยุทธศาสตร์ยอมจำนนต่อโรค และให้ทำมาหากินกันไปนั้น ย่อมมีโอกาสที่เกิดความสูญเสียมากมายตามมาได้ และจะส่งผลกระทบทั้งต่อระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว

สำหรับไทยเรานั้น การระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง กระจายไปทั่ว

จำเป็นต้องใช้ทั้งเรื่องวัคซีน และมาตรการควบคุมป้องกันโรค (Non-pharmacological interventions) ที่เข้มข้นไปควบคู่กัน

ภูมิคุ้มกันหมู่นั้น หากเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จะบอกได้ว่ามีความเป็นไปได้ แต่ต้องอาศัยมาตรการควบคุมป้องกันโรคอื่นควบคู่กันไปด้วยจนสามารถกดการแพร่ระบาดของเชื้อให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับสรรพคุณของวัคซีนชนิดต่างๆ ที่ใช้

แต่หากมาตรการควบคุมโรคนั้นไม่ดีพอ เชื้อก็ระบาดต่อเนื่องระเบิดระเบ้อ ต่อให้มีวัคซีนดีแค่ไหนก็คุมไม่อยู่ในสถานการณ์จริง

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนย่อมได้ประโยชน์ต่อระดับบุคคลที่ฉีดแน่ๆ เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรง ลดโอกาสเสียชีวิต

สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก

เลี่ยงการกินดื่มในร้านอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า

ด้วยรักและห่วงใย

สวัสดีวันอาทิตย์ครับ

.....

รายงานจำนวนในประเทศ 15,424

ATK 4,966

รวมในประเทศ 20,390

หากคิดว่าตรวจลดลงไป 21.6% คาดว่า expected number = 26,008

หมอธีระ คาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews