นักดาราศาสตร์สมัครเล่น ค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี เพิ่มอีก 1 ดวง

13 กรกฎาคม 2564

วันนี้ ( 13 กรกฎาคม 2564 ) ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า นักดาราศาสตร์สมัครเล่นค้นพบ #ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี เพิ่มอีก 1 ดวง! - ไทยนิวส์ออนไลน์

Kai Ly ผู้ค้นพบ 4 จาก 5 ดวงจันทร์ที่หายไปของดาวพฤหัสบดี (Lost jovian moons) เมื่อปีที่แล้ว ได้กลายเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นคนแรกที่ค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีดวงใหม่ หลังจากที่เขารายงานการค้นพบดังกล่าวไปยัง Minor Planet Mailing List เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อตีพิมพ์ลงใน Minor Planet Electronic Circular ต่อไป หากได้รับการยืนยันจะส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารรวม 80 ดวง

 

ภารกิจค้นหาดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีในครั้งนี้ Kai Ly เริ่มจากการใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ที่บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์แคนาดา - ฝรั่งเศส - ฮาวาย (CFHT) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากล้อง 3.6 เมตร ตั้งอยู่ในหอดูดาวเมานาเคีย โดยเลือกชุดข้อมูลที่ถ่ายช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ดวงจันทร์บริวารสะท้อนแสงดวงอาทิตย์ได้มากที่สุดนั่นเอง

จากชุดข้อมูลของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 จำนวน 19 ภาพ พบวัตถุที่คาดว่าจะเป็นดวงจันทร์ทั้งหมด 3 วัตถุ กำลังเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วเชิงมุมประมาณ 13 ถึง 21 พิลิปดาต่อชั่วโมง หลังจากนั้นเขาได้ค้นหาวัตถุทั้งสามเพิ่มเติมจากชุดข้อมูลของวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 รวมทั้งใช้ข้อมูลที่บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์ซูบารุ ในช่วงวันที่ 5 และ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 แต่กลับยืนยันได้เพียงแค่วัตถุเดียว นั่นก็คือวัตถุที่มีชื่อชั่วคราวในขณะนั้นว่า “EJc0061” อย่างไรก็ตามชุดข้อมูลดังกล่าวสามารถสร้างเส้นแนวโน้มและบ่งชี้ได้ว่าวัตถุดังกล่าวมีวงโคจรรอบดาวพฤหัสบดี

ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี เพิ่มอีก 1 ดวง

ภารกิจการค้นหาดวงจันทร์ดวงนี้สิ้นสุดลงด้วยการใช้ข้อมูลทั้งสิ้น 76 ชุด ครอบคลุมช่วงเวลากว่า 15.26 ปี (5,574 วัน) จากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกหลายตัว ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์ซูบารุ และกล้องโทรทรรศน์ CFHT จากหอดูดาวเมานาเคีย รวมถึงกล้องโทรทรรศน์จากหอดูดาวเซอร์​โรโทโลโล อินเตอร์อเมริกัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการยืนยันว่าดวงจันทร์ดังกล่าวมีอยู่จริง จากการศึกษาพบว่าดวงจันทร์ดวงนี้มีค่าอันดับความสว่างประมาณ 23.2 - 23.5 และมีคาบการโคจรรอบดาวพฤหัสบดีประมาณ 1.9 ปี

ด้วยฐานข้อมูลที่เปิดกว้างจากหลากหลายแหล่ง เช่น Canadian Astronomical Data Center's Solar System Object Image Search, Minor Planet Center และ Aladin Sky Atlas รวมถึงซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่ช่วยในการคำนวณ เช่น Find_Orb orbit determination software ช่วยเปิดโอกาสให้นักดาราศาสตร์สมัครเล่นได้ค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ด้วยตนเอง เพียงแค่ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจในสิ่งที่ทำ และอดทนกับข้อมูลมหาศาล แต่สุดท้ายแล้วก็จะได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเหมือนกับ Kai Ly นักดาราศาสตร์สมัครเล่นคนนี้แน่นอน

บรรยาภาพ : ภาพแสดงวงโคจรดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีที่ได้รับการยืนยันจากสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ทั้งหมด 79 ดวง (ยังไม่รวมดวงที่ค้นพบล่าสุด) จะเห็นว่าดวงจันทร์ที่มีวงโคจรใกล้กับดาวพฤหัสบดี (วงโคจรสีม่วงและสีน้ำเงิน) จะโคจรในทิศทางเดียวกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี ส่วนดวงจันทร์ที่มีวงโคจรอยู่ห่างจากดาวพฤหัสบดี (วงโคจรสีแดง) จะโคจรในทิศทางตรงกันข้ามกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี ยกเว้นดวงจันทร์ Valetudo (วงโคจรสีเขียว) ที่ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่โคจรในทิศทางเดียวกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี

ที่มา NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ