อนามัยโลกแนะนำ (WHO) ยาตัวใหม่ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรง

07 กรกฎาคม 2564

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำการใช้ยาต้านอินเตอร์ลิวคิน-6 (interleukin-6) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรง พร้อมกระตุ้นเตือนกลุ่มผู้ผลิตร่วมมือกันเพื่อเพิ่มการเข้าถึงตัวยาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอังคาร (6 ก.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำการใช้ยาต้านอินเตอร์ลิวคิน-6 (interleukin-6) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อาการรุนแรง พร้อมกระตุ้นเตือนกลุ่มผู้ผลิตร่วมมือกันเพื่อเพิ่มการเข้าถึงตัวยาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว

ยาตัวใหม่ รักษาผู้ป่วยโควิด-19

องค์การฯ แถลงข่าวว่าคำแนะนำนี้อ้างอิงการค้นพบจากเครือข่ายการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ที่ริเริ่มโดยองค์การฯ ซึ่งเป็นโครงการวิเคราะห์ยาต้านอินเตอร์ลิวคิน-6 ขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

ยาต้านอินเตอร์ลิวคิน-6 เป็นยากลุ่มแรกที่พบว่ามีประสิทธิภาพรักษาโรคโควิด-19 นับตั้งแต่องค์การฯ แนะนำให้ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) เมื่อเดือนกันยายน 2020

“ผู้ป่วยโรคโควิด-19 อาการรุนแรงหรือขั้นวิกฤตมักมีปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อไวรัสฯ รุนแรงเกินไปจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ยาต้านอินเตอร์ลิวคิน-6 ได้แก่ โทซิลิซูแมบ (tocilizumab) และซาริลูแมบ (sarilumab) จะทำหน้าที่ระงับปฏิกิริยาที่มากเกินไปนี้”

องค์การฯ ระบุว่าเครือข่ายการวิเคราะห์ฯ บ่งชี้ว่าการใช้ยาต้านอินเตอร์ลิวคิน-6 ในผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือขั้นวิกฤตช่วยลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับการดูแลแบบมาตรฐาน  ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้เสียชีวิตน้อยลง 15 รายต่อผู้ป่วย 1,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตน้อยลงถึง 28 รายต่อผู้ป่วยขั้นวิกฤต 1,000 ราย

นอกจากนั้นการใช้ยาดังกล่าวทำให้อัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยอาการรุนแรงและขั้นวิกฤตลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับการดูแลแบบมาตรฐาน ส่งผลให้มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจน้อยลง 23 รายต่อ 1,000 ราย

ยาตัวใหม่ รักษาผู้ป่วยโควิด-19


ทั้งนี้ องค์การฯ เรียกร้องผู้ผลิตยาต้านอินเตอร์ลิวคิน-6 ปรับลดราคาและสำรองตัวยาให้ประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง โดยเฉพาะห้วงยามที่จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 กำลังเพิ่มสูง เพื่อเพิ่มพูนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ช่วยชีวิตเหล่านี้

องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เผยว่าโทซิลิซูแมบจัดอยู่ในกลุ่มยาที่เรียกว่าโมโนโคลนอลแอนติบอดี (mAbs) ปัจจุบันใช้ในการรักษาโรคหลากหลาย ซึ่งรวมถึงมะเร็ง ทว่ามีราคาสูงมากจนทำให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางมีโอกาสเข้าถึงยาตัวนี้ไม่มากนัก

ส่วนโมโนโคลนอลแอนติบอดีอีกตัวที่องค์การฯ แนะนำ ได้แก่ ซาริลูแมบ ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองทางสิทธิบัตรทั่วโลก ก่อให้เกิดความท้าทายด้านการผลิตและจัดสรรอย่างต่อเนื่อง