ศูนย์วิจัยฯ เผยประโยชน์มหาศาลของ "แมลงวัน" จากร่างไร้วิญญาณ

14 มิถุนายน 2564

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต Parasitic Disease Research Center โพสต์ภาพ การเรียนปรสิตวิทยา เนื้อหาหลักๆ คือ การนำความรู้ด้านแมลงวัน ปรสิตภายนอกของคนเรา มาใช้ในการสืบการตายของศพ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประโยชน์มหาศาลของ "แมลงวัน" ที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง

เพจเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความระบุว่า.. สืบศพการตายด้วยหนอนแมลงวัน การเรียนปรสิตวิทยา เนื้อหาหลักๆ คือการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่ได้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตอื่น ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ คือ โปรโตซัว พยาธิตืด พยาธิใบไม้ พยาธิตัวกลม พยาธิหัวหนาม และสัตวขาข้อ ในความเป็นปรสิต ก็ยังสามารถพัฒนาองค์ความรู้ทำให้เกิดประโยชน์ด้วยนักวิทยาศาสตร์ด้านปรสิตวิทยา นั่นคือ การนำความรู้ด้านแมลงวัน ปรสิตภายนอกของคนเรา มาใช้ในการสืบการตายของศพ

 

- การเจริญเติบโตของหนอนที่พบในศพ แพทย์นิติเวชและพนักงานสอบสวนจะตรวจว่าเป็นหนอนของแมลงชนิดใด การรู้ถึงชนิดของแมลงและตัวหนอน การเจริญเติบโต ระยะเวลากี่วันจึงจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นการช่วยบอกระยะเวลาการตายในทางอ้อมได้ (ยุกตนันท์ จำปาเทศ 2547)

- การประเมินระยะเวลาหลังการเสียชีวิตจากการเจริญเติบโตของแมลงใช้ประโยชน์ในการแสดงถึงการเคลื่อนย้ายศพ เชื่อมโยงระหว่างสถานที่เกิดเหตุ ช่วยระบุตำแหน่งบาดแผลบนศพ เป็นแหล่งค้นหาสารพิษและสารพันธุกรรมของมนุษย์ การยืนยันการทอดทิ้ง การทารุณกรรม การสร้างคราบเลือดแปลกปลอมในที่เกิดเหตุ (นพวรรณ บุญชู 2561)

- แมลงวันเป็นสัตว์ขาข้อกลุ่มแรกที่พบในศพและทิ้งร่องรอยในศพ นั่นคือ มีการวางไข่ มีการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ดักแด้และตัวเต็มวัย ตามลำดับ ทำให้สามารถใช้ข้อมูลการเจริญเติบโตของแมลงวันในการย้อนไปหาระยะเวลาหลังการเสียชีวิตได้ โดยเทียบกับการเจริญเติบโตของแมลงวันที่พบในศพ แมลงวันเป็นแมลงที่พบได้มากที่สุดในการเป็นตัวหนอนที่พบบนศพที่ยังไม่แห้ง คือ แมลงวันหัวเขียว Chrysomya megacephala และ Chrysomya rufifacies (นพวรรณ บุญชู 2561)

- แมลงวันตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มๆ ละ 4-15 ฟอง วางไข่สูงสุดเกือบ 400 ฟอง ตัวอ่อนของแมลงวันจะฟักออกจากไข่ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง ตัวอ่อนพัฒนาเป็นเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1-3 ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ตัวอ่อนหนอนแมลงวันลำตัวสีขาวขุ่นคล้าย จะมีการเพิ่มขนาดความยาวขึ้นประมาณ 1 – 1.5 เซนติเมตร ที่ศพจะพบคลานเต็มไปด้วยหนอนแมลงวัน หนอนแมลงวันอาจจะเจริญเติบโตและยาวขึ้นได้อีกเพียงเล็กน้อย ช่วงท้ายๆที่พบหนอนแมลงวันในระยะสุดท้าย อยู่นิ่งไม่คลานอีกเพื่อปลี่ยนเป็นดักแด้ เปลี่ยนเป็นดักแด้ในวันที่ 8 หากพบตัวแก่ของแมลงวันขนาดประมาณ  9-15 มิลลิเมตร จะใช้ชีวิตอยู่ได้เฉลี่ย 8-16 วัน (เลี้ยง หุยประเสริฐ 2549)เป็นเรื่องราวของปรสิตภายนอก ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการช่วยทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ดังที่ท่านๆได้เห็นในข่าวที่ผ่านมา

แมลงวัน

เอกสารและแหล่งอ้างอิง 

-  ยุกตนันท์ จำปาเทศ. ปัญหาพิเศษระดับปริญญาตรี เรื่อง"ชนิดของแมลงที่ตรวจพบจากซากลูกสุกร".ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. จังหวัดนครปฐม. 2547

- เลี้ยง หุยประเสริฐ. การเจริญเติบโตของหนอนที่พบในศพ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน. สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549

- นพวรรณ บุญชู. สืบศพคดีฆาตกรรมจาก แมลงวัน. ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 2561

- Rezende, F et al. Developmental rates of immatures of three Chrysomya species (Diptera: Calliphoridae) under the effect of methylphenidate hydrochloride, phenobarbital, and methylphenidate hydrochloride associated with phenobarbital. Parasitol Res 113, 1897–1907 (2014). (Pictures)