เปิดใจ เจ้าของร้านไทยโช หลังประกาศปิดกิจการ โล๊ะขายของในร้าน

08 มิถุนายน 2564

ร้านไทยโช ร้านบาร์แอนด์เรสเตอรองท์ ย่านสะพานควาย กทม. ประกาศปิดกิจการ โล๊ะขายของในร้าน ลั่น!อดทนมาเกือบปีไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ ปรับตัวไม่ไหว ปรับรัฐบาลได้ไหม

วันนี้ (08 มิ.ย.2564) ร้าน Thaisho (ไทยโช) ร้านบาร์แอนด์เรสเตอรองท์ ย่านสะพานควาย กทม. โพสต์ภาพสิ่งของ ภายในร้านในเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความระบุว่า "ลาก่อน ถ้ามีรัฐบาลใหม่เมื่อไหร่เราคงได้เจอกันนะ ทุกคน #ผนงรจตกม ไทยโชเปิดขายโล๊ะทุกอย่าง
 

พร้อมระบุว่า ถ้ารักโปรดมาช่วยเลือกของไปหน่อยนะ ราคาเริ่มต้นเพียง 10 บาท เท่านั้น เปิดขาย วันที่ 10-13 มิ.ย. , 17- 20 มิ.ย. เวลา 10.00- 19.00 น. พิกัด พหลโยธิน ซอย 14 (ปากซอยติดธนาคาร ออมสิน)" อดทนมาเกือบปีไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ ปรับตัวไม่ไหวปรับรัฐบาลได้มั้ย

โดยทางด้านของ น.ส. ภฑรา ศิริอริยาพร เจ้าของร้าน บอกว่า โควิดระลอกนี้หนักจริงๆ ระลอกแรกกับระลอกสองเข้าใจว่ารัฐบาลน่าจะมีบทเรียนแล้ว แต่ยังให้มีการการระบาดอีกเป็นระลอกที่สาม และไม่รู้ว่าจะยับยั้งเชื้อโควิดได้เมื่อไหร่ เราสร้าง ความเชื่อมั่น ให้กับลูกค้าและพนักงานไม่ได้

ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ จึงจำใจพักปิดร้านถาวรและประกาศโล๊ะทุกอย่างในร้านขาย เช่นโต๊ะ เก้าอี้ โซฟา อุปกรณ์เครื่องครัว โคมไฟ เครื่องดื่ม เหล้า เบียร์ ที่สต็อกไว้จำนวนมาก ในช่วงที่มีคำสั่งให้ปิดสถานบันเทิงพอดี ทุกอย่างในร้านที่ขายได้ก็จะขายให้หมด อันไหนขายไม่ได้ก็จะแถม ถ้าเหลือก็จะเอาไปบริจาค ไม่ได้ขายกะเอากำไรเพราะเข้าใจสภาวะแบบนี้ทุกคนก็ ลำบากกันหมด อย่างไรก็ตามหลังจากได้ประกาศดังกล่าวออกไป มีร้านอาหารและผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะลูกค้าประจำติดต่อมาสั่งจองเยอะมาก บางคนไปที่ร้านเพื่อขอดูสิ่งของที่ร้านไทยโชจะโล๊ะขาย

เจ้าของร้านไทยโช บอกว่า ร้านเปิดเข้าสู่ปีที่ 3 มีพนักงาน 10 คน บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัวมีลูกมีเมีย ทางร้านเต็มที่แล้วเพราะเขาลำบากกว่าเราเยอะ เราก็ลำบากเหมือนกัน แต่มันไม่ไหวแล้วที่จะแบกรับไว้ ดูสถานการณ์แล้วไม่มีหวังสำหรับร้าน กลางคืนเลย หากเป็นต่างประเทศเสีย ภาษี อย่างถูกต้องร้านหรือพนักงานจะได้รับค่าเยียวยา

เงินที่นำมาใช้หมุนในร้านหมดแล้ว เข้าเนื้ออย่างเดียว ทุกวันนี้ผู้ประกอบการแทบไม่ได้รับการ เยียวยาใดๆ จากภาครัฐ ตนก็ยังต้องเสียค่าเช่า ค่าจ้าง พนักงานทุกช่วยเหลือพอให้คนงานอยู่ได้ หากรัฐช่วยเยียวยาบ้าง ผับบาร์สถานบันเทิงกลางคืนก็พอจะเดินต่อไปได้ เช่นเดียวกับ ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็คงได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน กิจการกลางคืน ได้รับผลกระทบแบบโดมิโน่ ร้านปิดคนงานในร้านก็กะทบไปด้วย เช่น เด็กเสิร์ฟ นักร้องกลางคืน ฯลฯ

เจ้าของร้านไทยโช ระบุอีกว่า “หากรัฐบาลมีแผนที่ชัดเจน ไม่ใช่เช้าคุยกันอย่างหนึ่ง ตกเย็นเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันหรอก เรายินดีรับผิดชอบสังคม แต่รัฐสั่ง ปิดแทบทุกกิจการ อยากสะท้อนไปยังรัฐบาลให้ช่วบยเยียวยา มีมาตรการแบบแผนจัดการอย่างจริงจัง เชื่อว่าทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ แต่นี่มันยืดเยื้อ”