จีนส่งยานอวกาศลำแรก เหยียบพื้นผิว "ดาวอังคาร" เริ่มปฏิบัติการสำรวจ

23 พฤษภาคม 2564

จู้หรง (Zhurong) ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีน วิ่งลงจากชานชาลายานลงจอดสู่พื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งเป็นการประทับ “รอยเท้า” แห่งความสำเร็จก้าวแรกบนดาวเคราะห์แดงดวงนี้ครั้งแรกของจีน

จีนกลายเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสหรัฐฯ ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดและขับเคลื่อนยานสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคาร โดยจู้หรงเป็นยานสำรวจพื้นผิว ขนาด 6 ล้อ น้ำหนัก 240 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีรูปลักษณ์คล้ายผีเสื้อสีน้ำเงิน

 

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) อ้างอิงข้อมูลโทรมาตรระบุว่าจู้หรงเคลื่อนตัวลงตามทางลาดของยานลงจอดอย่างเชื่องช้า และแตะพื้นดินดาวอังคารตอน 10.40 น. ของวันเสาร์ (22 พ.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง

ยานสำรวจพื้นผิวจู้หรงตั้งชื่อตามเทพแห่งไฟตามตำนานจีนโบราณ พ้องกับ “หั่วซิง” หรือดาวแห่งไฟ ชื่อดาวอังคารในภาษาจีน มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 90 วันดาวอังคาร (ราว 3 เดือนบนโลก) และถูกติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์หลากหลายรายการ

จีนส่งยานอวกาศลำแรก เหยียบพื้นผิว "ดาวอังคาร" เริ่มปฏิบัติการสำรวจ

จู้หรงจะดำเนินการบันทึกภูมิทัศน์ดาวอังคารด้วยภาพสามมิติความละเอียดสูง วิเคราะห์ส่วนประกอบของพื้นผิวดาวเคราะห์ ตรวจจับโครงสร้างและสนามแม่เหล็กใต้พื้นผิว ค้นหาร่องรอยน้ำแข็ง และสังเกตสภาพทางอุตุนิยมวิทยาโดยรอบ

รายงานระบุว่าจู้หรงมีคุณสมบัติเฉพาะที่น่าสนใจ นับเป็นยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกที่มีระบบกันสั่นสะเทือนแบบแอคทีฟ ช่วยให้ยานเคลื่อนตัวเหมือนหนอนบนพื้นผิวที่สลับซับซ้อนจากดินทรายร่วนซุยและก้อนหินที่กระจายตัวหนาแน่น

จู้หรงยังสามารถเคลื่อนตัวด้านข้างเหมือนปู แต่ละล้อหมุนเลี้ยวได้ทุกทิศทาง ช่วยหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางและปีนไต่ทางลาดชัน ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ถูกออกแบบพิเศษให้ปรับเอียงตามแสงอาทิตย์ และป้องกันฝุ่นจากพายุทรายเกาะสะสม

นอกจากนั้นจู้หรงยังมีบานหน้าต่างกักเก็บความร้อน ซึ่งช่วยดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ตอนกลางวันและปลดปล่อยความร้อนตอนกลางคืน เพื่อช่วยให้ยานทั้งลำอยู่รอดพ้นอุณหภูมิต่ำตอนกลางคืนที่อาจลดลงจน -100 องศาเซลเซียส

ขณะเดียวกันจู้หรงสามารถปฏิบัติการและรับมือปัญหาอันซับซ้อนโดยอัตโนมัติ เนื่องจากฝ่ายควบคุมที่ภาคพื้นโลกมิอาจสั่งการทันเวลา เพราะระยะห่างระหว่างโลก-ดาวอังคาร ทำให้การสื่อสารทางเดียวคลาดเคลื่อนราว 20 นาที

จีนส่งยานอวกาศลำแรก เหยียบพื้นผิว "ดาวอังคาร" เริ่มปฏิบัติการสำรวจ

ตัวอย่างเช่นจู้หรงสามารถวางแผนเส้นทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ตัดสินใจการข้ามผ่านสิ่งกีดขวาง และเลือกวิถีทางที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง รวมถึงกำหนดเวลาเลิกงานและ “เข้านอน” อัตโนมัติ ก่อนจะตื่นเมื่อมีแสงอาทิตย์เพียงพออีกครั้ง

“เราระดมสมองหลายรอบตอนออกแบบยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำนี้ เพื่อสร้างยานสำรวจพื้นผิวที่ทรงพลังและงดงาม สะท้อนความสามารถทางวิศวกรรมอวกาศของจีนออกมาในระดับดีที่สุด” หนึ่งในทีมนักออกแบบยานอวกาศสำรวจดาวอังคารลำแรกของจีนกล่าว

จีนส่งยานอวกาศลำแรก เหยียบพื้นผิว "ดาวอังคาร" เริ่มปฏิบัติการสำรวจ

จีนส่งยานอวกาศลำแรก เหยียบพื้นผิว "ดาวอังคาร" เริ่มปฏิบัติการสำรวจ

ที่มา xinhuathai