"โรคผมเหม็น"มีอยู่จริง หลายคนไม่เคยรู้ แถมกำลังเป็นอยู่ด้วย

20 พฤษภาคม 2564

(โรคผมเหม็น)เส้นผมมีความสำคัญกับคนเรามาก ๆ นอกจากช่วยปกคลุมไม่ให้ศีรษะเจอกับภาวะร้อนหรือเย็นมากจนเกินไปยังจะทำให้บุคลิกภาพเราดีขึ้นด้วย สำหรับใครที่ผมเรียงเส้นสวยเงางามและมีกลิ่นหอมจะทำให้คนชื่นชอบ อยากอยู่ใกล้ หรืออยากมีกิจกรรมปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน

โรคผมเหม็นคืออะไร?

นายแพทย์ธาดา เปี่ยมพงศ์สานต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังได้เขียนให้ความรู้เกี่ยวกับโรคผมเหม็นไว้ว่า ถ้าคุณมีอาการคันบริเวณหนังศีรษะ ผมเหนียว มีความมัน และเหม็นทั้งที่เพิ่งจะสระผมเสร็จไม่นาน อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็น “Smelly Hair Syndrome” ได้ ! ซึ่งมันคือ อาการของหนังศีรษะมีกลิ่นเหม็นที่เกิดจากเชื้อราจำพวกยีสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งภาวะนี้ไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นโรคแต่มันเป็นการผิดปกติของร่างกายที่ทำให้ผมเหม็นง่ายขึ้นนั่นเอง

 

 

สาเหตุของโรคผมเหม็น

สำหรับสาเหตุของ“Smelly Hair Syndrome”เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น

1. เกิดจากต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไปจึงทำให้มีน้ำมันส่วนเกินติดที่รากผมพอหนังศีรษะมันก็ดูดอากาศเข้าไว้จึงเป็นสาเหตุทำให้เหม็นได้ง่ายขึ้น

2. เกิดจากต่อมเหงื่อผลิตเหงื่อออกมามากเกินไปจนทำให้อับและชื้นสุดท้ายก็เหม็น

3. เส้นผมเล็กเกินไปจนเรียงตัวกันแน่นจึงมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้หนังศีรษะเกิดความมันมากกว่าปกติ

4. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่ว่าจะความเครียด หรือผลกระทบอื่น ๆ ที่มีต่อสภาพจิตใจ มันจะทำให้เกิดภาวะผมมันและเหม็นในที่สุด

5. เป็นโรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) หรือที่ใคร ๆ มักเรียกว่าโรคผื่นผิวหนังอักเสบ โดยมักจะเกิดที่บริเวณผิวมันเมื่อเส้นผมมีความมันมากจึงทำให้เส้นผมเหม็นไปด้วย ไม่เพียงแต่ผมเหม็นหากปล่อยไว้ไม่รักษามันจะทำให้หนังศีรษะของคุณอักเสบและลุกลามถึงขั้นมีน้ำมีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม เกิดการติดเชื้อ จนสุดท้ายเส้นผมหลุดร่วงจำนวนมาก

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคผมเหม็น

1. เพิ่งสระผมเสร็จไม่ทันไรผมก็กลับมาเหม็นอับอีกแล้ว

2. กลิ่นผมคล้ายกับขนของสุนัขที่พึ่งอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ หรือมีกลิ่นอับฟองน้ำเก่าๆ

3. กลิ่นเหม็นนี้มักไม่ค่อยหายไป กลิ่นติดทนนานแม้จะสระผมหลาย ๆ ครั้งก็ตาม

4. กลิ่นเหม็นนี้ไม่สามารถดับด้วยกลิ่นของสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็น มะกรูดหรือสมุนไพรอย่างอื่น อาการดีขึ้นก็เพียงชั่วคราวและก็จะกลับมาเป็นซ้ำอีก

วิธีแก้ไขอาการผมเหม็น

1.สระผมให้บ่อยขึ้นอย่างน้อยวันละครั้งด้วยแชมพูสูตรอ่อนโยน ห้ามใช้แชมพูที่เข้มข้นหรือแรงเกินไปเด็ดขาดเพราะมันจะทำให้หนังศีรษะมีการผลิตไขมันออกมามากขึ้น

2.ขณะสระผมไม่ควรเกาเพราะยิ่งเกาจะยิ่งเหม็นมากขึ้น

3.หากใช้ครีมนวดผมไม่ควรนวดบริเวณใกล้รากผมเพราะจะทำให้เป็นการกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันให้ออกมามากยิ่งขึ้น

4.หลังสระผมควรเช็ดศีรษะให้แห้งสนิททุกครั้งอย่าปล่อยให้ผมเปียกชื้น เพราะถ้าผมเปียกชื้นอาจทำให้แบคทีเรียแพร่กระจายออกไปมากขึ้นจนทำให้ผมส่งกลิ่นเหม็นออกมาได้ง่าย 

5.ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมโดยเฉพาะพวกออยล์ต่าง ๆ เพราะจะทำให้ผมและหนังศีรษะมันมากขึ้น

6.ควรหลีกเลี่ยงการทำสีผม การดัดผม การยืดผม เพราะจะทำให้ผมเหม็นง่ายขึ้น

7.พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ร้อนจัดหรือมีคนหนาแน่น เพราะความร้อนและความอับจะกระตุ้นทำให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากจนเกิดภาวะผมเหม็น

 8.ควรเปลี่ยนปลอกหมอนและทำความสะอาดชุดเครื่องนอนเป็นประจำเพื่อลดความอับชื้น

 9. งดทานอาหารที่มีกลิ่นฉุน อย่าง กระเทียม

 10. พยายามตัดผมสั้นเพื่อให้ระบายอากาศได้ดีเหงื่อจะได้ไม่ออกง่าย

11. หากหนังศีรษะของคุณมีอาการอักเสบ ติดเชื้อที่บริเวณผิวหนัง ควรเลือกใช้แชมพูยาที่มีส่วนผสมของ “Ketoconazole”ที่ช่วยยับยั้งเชื้อราบนหนังศีรษะ อาการจะได้ไม่ลุกลาม ลดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น หากเป็นมากอาจปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

 

โรคผมเหม็นถึงจะเป็นสภาวะที่ผิดปกติของเส้นผม แต่ถ้าหากปล่อยให้ผมเหม็นต่อไปใคร ๆ ก็คงไม่อยากจะเข้าใกล้คุณแน่นอน จึงต้องรีบรักษาโดยด่วนเพื่อให้กลับมาสู่สภาวะปกติดังเดิม ซึ่งมันคงไม่นานหากตั้งใจจริง…

 

ขอบคุณ ความรู้รอบตัว