กัปตันนกแอร์ 20 ชีวิตรวมตัวร้องกระทรวงแรงงาน ถูกเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย

12 พฤษภาคม 2564

กัปตันนกแอร์ 20 ชีวิตรวมตัวร้องกระทรวงแรงงาน ถูกเลิกจ้างโดยยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยจริงตามกฎหมาย ทั้งนี้นำทีมโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่าสมาคมฯจะนำนักบินหรือกัปตันของสายการบินนกแอร์ประมาณ 20 คน เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนกรณีบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน)มีคำสั่งเลิกจ้างกลุ่มพนักงานการบินเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยจริงตามกฎหมาย
 

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ได้มีหนังสือเลิกจ้างมายังกลุ่มพนักงานที่เป็นนักบินหรือกัปตันเป็นจำนวนมาก โดยอ้างว่าบริษัทประสบปัญหาด้านการเงิน และขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ส่งผลให้ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินจนเป็นเหตุให้บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัทจะต้องปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องควบรวมฝ่ายงาน หรือยุบโครงสร้างบางฝ่ายงาน ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อนักบินเป็นจำนวนมาก

ขณะนี้นักบินหลักและนักบินผู้ช่วยทั้งหมดกว่า 20 คนได้รับหนังสือแจ้งการเลิกจ้างแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 ที่ผ่านมา โดยบริษัทสายการบินนกแอร์อ้างว่าจะจ่ายเงินชดเชย และเงินอื่นๆตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมภายใต้กระบวนการของการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายต่อไปได้เสียก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อพนักงานของบริษัทที่ถูกเลิกจ้าง เพราะตามหลักกฎหมายเมื่อบริษัทมีหนังสือเลิกจ้างแล้วมีผลวันใดบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยและเงินอื่นๆตามกฎหมายทันที ไม่ใช่ให้รอฟ้ารอฝนโดยไม่รู้ว่าจะได้รับเงินเมื่อไร
 

กัปตันนกแอร์ 20 ชีวิตรวมตัวร้องกระทรวงแรงงาน ถูกเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวได้เรียกนักบินหรือกัปตันไปเซนต์ชื่อแกมบังคับเพื่อขอลดค่าจ้างลงมาครึ่งหนึ่งประมาณ 2-3 ครั้งเพื่อให้ฐานเงินเดือนต่ำที่สุด ก่อนบอกเลิกจ้าง หากใครไม่ยอมเซ็นต์ก็จะถูกเลิกจ้างโดยทันที ทำให้นักบินส่วนใหญ่จำต้องเซ็นต์ชื่อให้เพราะกลัวตกงาน แต่ทางบริษัทกลับไม่ให้สำเนาหนังสือดังกล่าวให้พนักงานเก็บไว้คนละชุด และไม่มีการกรอกข้อความใดๆในหนังสือดังกล่าว ซึ่งบริษัทจะนำกลับไปกรอกข้อความอย่างไรก็ได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 2540 การใช้เทคนิคการเซ็นต์สัญญาเพื่อขอลดค่าจ้างลงมาจนถึงฐานเงินเดือนต่ำสุดก่อนบอกเลิกจ้าง จึงอาจเป็น “โมฆะ”ได้

ด้วยเหตุดังกล่าว นักบินหรือกัปตันของนกแอร์กว่า 20 คนจึงมาร้องขอความช่วยเหลือจากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เพื่อขอให้ช่วยนำพาไปร้องเรียน รมว.กระทรวงแรงงาน เพื่อขอสั่งการช่วยให้ความเป็นธรรม และดำเนินการทางกฎหมายขั้นสูงสุดต่อบริษัทดังกล่าวในวันนี้ เวลา 15.00 น. ณ ที่ทำการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ดินแดง กทม. นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

 

กัปตันนกแอร์ 20 ชีวิตรวมตัวร้องกระทรวงแรงงาน ถูกเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย