ภาพ เบื้องหลังการทำงาน พยาบาล รพ.สนาม เหนื่อยล้า หลังเข้าเวรกะละ 14 วัน

28 เมษายน 2564

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ. โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เผยภาพ เบื้องหลังการทำงานของพยาบาลในหอผู้ป่วยโควิด ต้องเข้าเวรกะละ 14 วันเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องพลัดกันงีบหลับ

วันที่ 27 เม.ย. นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งใช้ เป็น รพ.สนามขนาด 100 เตียงของ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้โพสต์ข้อความ และภาพการรักษาผู้ป่วยใน รพ.สิชล ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Arak Wongworachat ข้อความว่า เบื้องหลังการทำงานของพยาบาลในหอผู้ป่วยโควิด


ยอดผู้ป่วยโดยรวมเวลานี้กว่า 85 ราย และมีแนวโน้มเติมมาเรื่อยๆ โดยใช้อาคารผู้ป่วย 7 ชั้น แยกออกจากผู้ป่วยทั่วไป รับผู้ป่วยโควิดอย่างเดียวแต่ละชั้นรับได้ 28-30 คน โดยจัดเป็นห้องรวม ล็อกละ 6 คน มี 4 ล็อก ได้ 24 คน มีห้องแยกอีก 2 ห้อง ห้องละ 2-3 คน หากเป็นครอบครัวเดียวกัน ในแต่ละชั้นจัดทีมพยาบาล 2-3 คน ผู้ช่วยพยาบาล 1 คน แพทย์ 2 คน ดูแลรวมทุกชั้น และจะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม กุมารเวชกรรม รังสี วิสัญญี เวชศาสตร์ฉุกเฉินทีมบริหาร คอยสนับสนุนที่ศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิดด้านนอก

 

ภาพ เบื้องหลังการทำงาน พยาบาล รพ.สนาม เหนื่อยล้า หลังเข้าเวรกะละ 14 วัน

 

ผู้ป่วยรับใหม่จะต้องถูกประเมินอาการ ความเสี่ยงที่จะเกิดปอดบวม ความรุนแรง คัดแยกไว้ที่ล็อกหน้าห้องพยาบาล เพื่อง่ายต่อการจัดการ เมื่อเข้าหอผู้ป่วยทุกรายจะถูกเจาะเลือดและเอกซเรย์ปอดไว้เป็นเบื้องต้น วัดสัญญาณชีพ มอบอุปกรณ์ติดตามเช่น ปรอทวัดไข้ดิจิทัล เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดปลายนิ้วแนะนำการใช้เครื่องวัดความดันสอดแขนด้วยตนเอง และการส่งข้อมูลให้ทีมพยาบาลทุก 4-6 ชั่วโมง หากมีผู้ป่วยรายใดที่มีระดับออกซิเจนในเลือดลดลงก็จะรายงานแพทย์เพื่อเอาเครื่องให้ออกซิเจนแรงดันสูงมาใช้งานทันที การให้ยาต้านไวรัสหรือแบคทีเรียอื่นๆ เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิดแต่ละระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย

 

ภาพ เบื้องหลังการทำงาน พยาบาล รพ.สนาม เหนื่อยล้า หลังเข้าเวรกะละ 14 วัน

 

เมื่อออกไปเตรียมพร้อมเครื่องมือ แต่งกายรัดกุมชุดPPE หน้ากาก N95 ปิดทับด้วยเสื้อกันละอองฝอย เฟซชิลด์ พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์เข้าไปในห้องผู้ป่วย อาจเจาะเลือดซ้ำในบางราย เสียบสายเครื่องต่อกับออกซิเจน ต่อสายกับผู้ป่วยด้วยความชำนาญ แล้ววัดระดับการเปลี่ยนแปลงค่าออกซิเจนในเลือดเป็นระยะ สังเกตอาการหอบเหนื่อย โดยส่วนใหญ่จะดีขึ้น มีบางรายต้องใส่ท่อ ใช้เครื่องช่วยหายใจ

การงานของพยาบาลแต่ละชุด 14 วัน โดยไม่มีการผลัดเปลี่ยนระหว่างทาง เช้า บ่าย ดึก ต่อเนื่องกันไป 24 ชั่วโมง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องออกมาก่อน ระหว่างทาง การพักนอนงีบหลับ จึงต้องผลัดกันงีบในแต่ละช่วงเวลา แม้สามารถติดตามได้ทางกล้อง แต่ก็ต้องเข้าไปตรวจด้วยตนเองเพราะบางรายอาการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จึงมักเห็นภาพการงีบหลับบนโต๊ะทำงานหรือเปลี่ยนอิริยาบถ นั่งพื้นก้มหน้าฟุบหลับบนเก้าอี้ก็มี แม้จะมีฟูกให้นอน

แต่ก็ไม่เคยปริปากบ่นท้อถอย ยังคงทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างแข็งขัน แพทย์เวรจะคอยสั่งการรักษา ปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดเมื่อครบ 14 วัน ผลัดชุดใหม่เข้ามาแทนรับไม้ต่อ ชุดเดิมกักตัวต่อ อีก14 วัน และตรวจหาเชื้อตามเวลาที่กำหนด เป็นอีกมุมหนึ่งของทีมแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ในหอผู้ป่วยโควิด

ช่วงนี้จึงขอให้อยู่บ้าน ห่างกันไว้ จะช่วยลดความอ่อนล้าของบุคลากรทางการแพทย์ได้มาก และเอาชนะได้ในไม่ช้าหลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไปได้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ชื่นชมและให้กำลังใจทีมแพทย์พยาบาลทุกคนที่ทุ่มเททำงาน พร้อมกับขอให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิดครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว ขณะที่วันที่ 27 เม.ย. ยอดผู้ป่วยใหม่ของ จ.นครศรีธรรมราช เพิ่มขึ้นจำนวน 16 ราย รวมยอดสะสมจำนวน 257 ราย และรักษาหายป่วยแล้ว16 ราย