แชร์เทคนิคในการเลือกใช้พันธุ์ยางพารา เเละพันธุ์ยางที่แนะนำให้ปลูก

06 ธันวาคม 2565

หลักในการเลือกใช้พันธุ์ยางพารา เเละพันธุ์ยางที่แนะนำให้ปลูกควรยึดถือหลักการว่าจะต้องเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดและมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่


     ยางพาราเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นในการส่งเสริมอาชีพและมีโอกาสในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น  ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภาคใต้และของประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำยาง (Latex) ซึ่งเป็นผลิตผลที่ได้จากท่อลำเลียงอาหารในส่วนเปลือกของต้นยางพารา สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ยางชนิดต่างๆ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท  ตั้งแต่อุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตยางรถยนต์ ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวเรือน น้ำยางที่ได้จากต้นยางพารามีคุณสมบัติบางอย่างที่ยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber) ไม่สามารถทำให้เหมือนได้ 
 

 ไทยนิวส์จะมาเผยข้อแนะนำเรื่องการเลือกพันธุ์ยางพารา หลักในการเลือกใช้พันธุ์ยาง

         เนื่องจากผลผลิตน้ำยางหรือเนื้อไม้ที่ได้จากการปลูกยาง จะมากน้อยเพียงใดนั้น จะขึ้นกับปัจจัย 3 ประการ คือ พันธุ์ สภาพแวดล้อม และการปรับตัวของพันธุ์เข้ากับสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ดังนั้นการจะ ตัดสินใจว่าจะเลือกปลูกยางพันธุ์ใดนั้น ควรยึดถือหลักการว่า จะต้องเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดและมี ความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งควรมีการพิจารณาตามขั้นตอน ดังนี้

แชร์เทคนิคในการเลือกใช้พันธุ์ยางพารา เเละพันธุ์ยางที่แนะนำให้ปลูก

         1. พิจารณาว่าพื้นที่ปลูก มีสภาพแวดล้อมใดที่ไม่เหมาะสม เป็นข้อจำกัดที่มีความรุนแรงมาก น้อยเพียงใด สามารถแก้ไขได้หรือไม่ และส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิตมากน้อยเพียงใด เช่น เป็น พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใดรุนแรง พื้นที่ที่มีลมแรง หรือพื้นที่มีความลาดชันสูง หน้าดินตื้น

         2. พิจารณาลักษณะประจำพันธุ์แต่ละพันธุ์ จากเอกสารคำแนะนำพันธุ์ยางของสถาบันวิจัยยาง โดยเฉพาะลักษณะที่อ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นข้อจำกัด แล้วคัดเลือกพันธุ์ที่สามารถปลูกในพื้นที่ นั้น ๆ ได้

          3. ลำดับที่ของพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง จากเอกสารคำแนะนำพันธุ์ยาง แล้วเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิต สูงสุด ถือว่าเป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ดังกล่าว

         นอกจากนี้แล้ว ในการปลูกยางในพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ ควรปลูกยางหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ไม่ น้อยกว่า 14 ไร่หรือ 1 แปลงกรีด เนื่องจากเมื่อเกิดการระบาดของโรค การปลูกยางเพียงพันธุ์เดียว จะทำให้การระบาดของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น
 


ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่นำมาใช้เป็นข้อพิจารณาในการเลือกพันธุ์ยาง


         สภาพแวดล้อมของการปลูกยาง จะรวมทั้งการเขตกรรม และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูก ซึ่ง การเขตกรรม ตั้งแต่การปลูกถึงการกรีดเก็บเกี่ยวผลผลิตยางนั้น เป็นปัจจัยที่สามารถแก้ไขและ เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อสร้างผลสำเร็จในการปลูกยาง ส่วน สภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูก จัดเป็นปัจจัยบังคับหรือปัจจัยที่ไม่มีโอกาสเลือก แก้ไขและเปลี่ยนแปลง ได้ยาก แต่มีอิทธิพลต่อการให้ผลผลิต ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์ยางจึงต้องนำปัจจัยนี้ มาใช้ในการ พิจารณาการเลือกพันธุ์ยางปลูก ดังนี้

         1. ดินและสภาพพื้นที่
         ชนิดและสมบัติของดิน ดินแต่ละชนิดจะมีสมบัติทางเคมี และกายภาพที่แตกต่างกัน ทำให้ มีความเหมาะสมต่อการปลูกยางแตกต่างกัน พันธุ์ยางบางพันธุ์ให้ผลผลิตได้ดีในดินที่มี ความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เมื่อนำไปปลูกในดินที่มีความอุดมสมบรูณ์ของดินต่ำ ผลผลิต ลดลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของพันธุ์ ในขณะที่บางพันธุ์การให้ผลผลิตไม่ เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมมากนัก ดังนั้นจึงจำต้องรู้ว่าดินที่ปลูกมีความอุดม สมบูรณ์มากน้อยเพียงใดและปรับปรุงได้หรือไม่ ในกรณีที่แก้ไขไม่ได้ควรเลือกพันธุ์ยาง ใดที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก เช่น การปลูกยางในสภาพพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นดินเหนียว มี การระบายน้ำเลว ควรเลือกปลูกพันธุ์ยางที่มีทรงพุ่มเล็กหรือปานกลาง ความลึกของหน้าดิน โดยปกติต้นยางต้องการดินที่มีหน้าดินลึกมากกว่า 1 เมตร เพื่อให้ รากสามารถยึดเกาะได้อย่างมั่นคง การปลูกยางในพื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น จะทำให้ต้นยาง โค่นล้มง่าย ดังนั้นการปลูกยางในพื้นที่ดังกล่าว ควรจะเลือกพันธุ์ยางที่มีทรงพุ่มเล็กหรือ ปานกลาง แตกกิ่งสมดุลย์ ระดับน้ำใต้ดิน ในสภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยาง ระดับน้ำใต้ดินควรลึกไม่น้อย กว่า 1 เมตร แต่มียางบางพันธุ์ที่เกษตรกรสามารถเลือกปลูกได้ ความลาดชันของพื้นที่ พันธุ์ยางโดยทั่วไปไม่เหมาะสมที่จะนำไปปลูกในพื้นที่ลาดชันมาก สูงกว่า 16 องศา เช่น พื้นที่เป็นควนเขา เพราะจะทำให้ต้นยางโน้มเอียง เนื่องจากแตกกิ่ง และทรงพุ่มในระดับสูง ทำให้ต้นยางโค่นล้มได้ง่าย ดังนั้นยางบางพันธุ์จึงไม่เหมาะสม สำหรับปลูกในพื้นที่ลาดชัน แต่มียางบางพันธุ์เหมาะสมหรือพอจะปลูกได้ ในสภาพพื้นที่ ดังกล่าว

         2. โรค
         ในแต่ละพื้นที่ ชนิดและความรุนแรงในการระบาดของโรค จะแตกต่างกันออกไป ตามสภาวะ ที่เหมาะสมต่อการแพร่กระจาย ดังนั้นก่อนที่จะปลูกยางควรจะศึกษาและพิจารณาดูก่อนว่า มีโรคอะไร ระบาดบ้าง ระบาดอยู่ในระดับรุนแรงมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้ตัดสินใจเลือกพันธุ์ยางที่ต้านทาน โรคนั้นๆได้ถูกต้อง

         3. ความรุนแรงของลม
         ลมเป็นสาเหตุสำคัญของการฉีกขาด การหักโค่นและถอนรากของต้นยาง ในพื้นที่ปลูกยางที่มี ความแรงของลมมากกว่า 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (8 beavfort scale) เป็นระยะเวลาหลายวันในแต่ละปี ถือว่าเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดจากลมได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ในพื้นที่ปลูกยางของประเทศไทย ความแรงของลมที่เกิดขึ้นตามปกติ จะมีผลทำให้ต้นยางเสียหายเล็กน้อย ยกเว้นพื้นที่ในบางจังหวัดของ ภาคใต้ เช่น ตรัง ภูเก็ต และบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สุรินทร์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี และอุบลราชธานี ที่มีความรุนแรงของลมในระดับปานกลาง อาจจะทำให้ต้นยาง เสียหายได้ ดังนั้นการเลือกพันธุ์ยางปลูกในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องพิจารณาเลือกพันธุ์ที่ ต้านทานลมได้ดี

แชร์เทคนิคในการเลือกใช้พันธุ์ยางพารา เเละพันธุ์ยางที่แนะนำให้ปลูก


ลักษณะประจำพันธุ์


        ลักษณะประจำพันธุ์ที่จะต้องนำมาพิจารณาควบคู่กับสภาพแวดล้อม เพื่อหาความเหมาะสมใน การกำหนดพันธุ์ยางที่จะปลูกมีหลายประการ เช่น

         1. ผลผลิต
         การพิจารณาผลผลิตว่าดีมากน้อยเพียงใดจะพิจารณาเป็นช่วง ตามอายุของการเปิดกรีด แนวโน้มของการเพิ่มและลดในช่วงอายุ และฤดูกาลต่าง ๆ กล่าวคือ ผลผลิตในช่วง 2 ปีแรกหลังเปิดกรีด ซึ่งเป็นช่วงต้นของการเก็บผลผลิตยาง บางพันธุ์ อาจจะให้ผลผลิตต่ำในช่วงแรก แต่ระยะต่อมาให้ผลผลิตสูงได้ ผลผลิตในช่วง 3 –10 ปีหลังเปิดกรีด เป็นช่วงที่ต้นยางให้ผลผลิตได้ดี ถือว่าเป็นช่วงหลัก ในการได้รับผลตอบแทนจากการปลูกยาง ผลผลิตในช่วงผลัดใบ การกรีดยางในช่วงผลัดใบ เป็นช่วงทีมีวันกรีดเต็มที่เนื่องจากไม่มี อุปสรรคจากฝน ควรจะเป็นพันธุ์ที่ผลผลิตลดลงไม่มากนักในช่วงนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรจะงดกรีดยางในช่วงที่ต้นยางผลิใบอ่อน เพราะจะทำให้กระทบต่อการให้ ผลผลิตและการเจริญเติบโตของต้นยางในระยะต่อมา ผลผลิตเมื่อใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง ควรเป็นพันธุ์ที่เพิ่มผลผลิตได้มากเมื่อมีการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง

         2. การเจริญเติบโตของต้นยาง
         พันธุ์ยางที่มีการเจริญเติบโตเร็วในระยะก่อนเปิดกรีด ก็หมายถึงว่าจะได้รับผลตอบแทนเร็วขึ้น ส่วนการเจริญเติบโตระยะระหว่างกรีด จะเกี่ยวพันกับการให้ผลผลิตเพิ่มในระยะต่อมา ดังนั้นการ เจริญเติบโต จึงต้องพิจารณาทั้งก่อนและระหว่างกรีด

         3. ขนาดของทรงพุ่ม
         พันธุ์ยางแต่ละพันธุ์จะมีลักษณะการแตกกิ่งและขนาดทรงพุ่มที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมี ความสัมพันธ์โดยตรงกับการกำหนดระยะปลูก โดยพันธุ์ยางที่มีลักษณะการแตกกิ่งเป็นมุมกว้างและ ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ ไม่ควรใช้ระยะปลูกระหว่างต้นชิด

         4. ความหนาเปลือก
         เปลือกจัดเป็นส่วนที่สำคัญของต้นยาง เพราะเป็นแหล่งให้ผลผลิตโดยตรง ต้นยางควรมีความ หนาความเหมาะสมที่เหมาะสม ทั้งเปลือกเดิม (เฉลี่ย 6.0 – 6.5 มม. ในระยะเปิดกรีด) และเปลือกงอก ใหม่ สำหรับเปลือกงอกใหม่ ควรพิจารณาความเร็วในการงอกประกอบ (เฉลี่ย 5.7 – 6.2 มม. ในปีกรีด ที่ 3) เนื่องจากมีความสัมพันธ์โดยตรงกับรอยแผลกรีด ตามปกติพันธุ์ยางที่เปลือกบางในเวลากรีดมักจะ เกิดบาดลึกถึงเนื้อไม้ได้ง่าย

         5. รอยแผลกรีด
         การเกิดรอยแผลจากการกรีดยางลึกถึงเนื้อไม้ในยางแต่ละพันธุ์จะแสดงความเสียหายแตกต่าง กัน บางพันธุ์จะแสดงความเสียหายรุนแรง จนไม่สามารถกลับมากรีดซ้ำได้อีก แต่บางพันธุ์อาจจะไม่ รุนแรงมากนัก

         6. ความต้านทานโรค
         โรคที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปลูกยาง คือ โรคใบร่วง ใบจุด เส้นดำ และราสีชมพู ดังนั้นควรเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรคที่ระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกให้ถูกต้อง ความต้านทานลม ลักษณะทรงพุ่ม และความแข็งแรงของเนื้อไม้ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสำคัญต่อการต้านทานลม ตามปกติลักษณะทรงพุ่มที่มีขนาดใหญ่ พุ่มใบหนาแน่น และการแตกกิ่งก้านไม่สมดุล จะอ่อนแอต่อ การกรรโชกของลม ที่ทำให้กิ่งฉีกขาด หรือต้นโค่นล้มได้ง่าย

         7. การปลูกในพื้นที่จำกัด
         ในกรณีที่ต้องการปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมบางประการ เช่นพื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น พื้นที่ที่ มีระดับน้ำใต้ดินสูง และพื้นที่ลาดชัน จะต้องเลือกพันธุ์ยางที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ที่ไม่ เหมาะสมนี้ได้ เพราะสภาพพื้นที่เหล่านี้จะมีผลต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตโดยตรง

         8. การตอบสนองต่อจำนวนต้นปลูกในแปลง
         ในกรณีที่ต้องการปลูกต้นชิด ซึ่งมีจำนวนต้นหนาแน่นมากกว่าปกติจะต้องไม่มีผลต่อการ เจริญเติบโตและผลผลิตมากนัก แต่ถ้ามีมากก็จะต้องหลีกเลี่ยงพันธุ์ยางที่ไม่ตอบสนองต่อการปลูกต้นชิด

         9. อาการเปลือกแห้ง
         ซึ่งเป็นความผิดปกติทางสรีระวิทยาของต้นยาง ที่หลังจากกรีดมีน้ำยางไหลออกมาเพียง เล็กน้อยหรือไม่ไหลเลย และอาจเกิดกับต้นยางที่ยังไม่ได้เปิดกรีด โดยเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุ์ ยาง ระบบกรีด การใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง สภาพแวดล้อมและสภาพดินที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น ใช้ระบบกรีดที่มีความถี่สูงกับพันธุ์ยางที่เป็นเปลือก แห้งง่าย

พันธุ์ยางที่แนะนำให้ปลูก


        โดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำคำแนะนำพันธุ์ยางแก่เกษตรกรทุก ๆ 4 ปี โดยใช้ ข้อมูลจากผลงานวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ยาง เพื่อแนะนำพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูงเป็นหลักตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากปัจจุบันไม้ยางพารามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ ของประเทศ ทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนจากผลผลิตเนื้อไม้เพิ่มขึ้น ดังนั้นคำแนะนำพันธุ์ยางปี 2546 สถาบันวิจัยยางจึงได้เปลี่ยนแปลงคำแนะนำจากเดิม โดยแบ่งพันธุ์ยางแนะนำเป็น 3 กลุ่ม คือ พันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง พันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้สูง และพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตเนื้อ ไม้สูง เพื่อให้เกษตรกรเลือกพันธุ์ได้ตามวัตถุประสงค์ของการปลูก

พันธุ์ยางที่แนะนำให้ปลูก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามวัตถุประสงค์ของการปลูก ดังนี้

กลุ่ม 1    พันธุ์ยางผลผลิตน้ำยางสูง เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูงเป็นหลัก การเลือกปลูกพันธุ์ยางใน กลุ่มนี้ ควรมุ่งเน้นผลผลิตน้ำยาง
กลุ่ม 2    พันธุ์ยางผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้สูง เป็นพันธุ์ที่ให้ทั้งผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้ โดยให้ ผลผลิตน้ำยางสูงและมีการเจริญเติบโตดี ลักษณะลำต้นตรง ให้ปริมาตรเนื้อไม้ในส่วนลำต้น สูง
กลุ่ม 3    พันธุ์ยางผลผลิตเนื้อไม้สูง เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเนื้อไม้สูงเป็นหลัก มีการเจริญเติบโตดีมาก ลักษณะลำต้นตรง ให้ปริมาตรเนื้อไม้ในส่วนลำต้นสูงมาก ผลผลิตน้ำยางจะอยู่ในระดับต่ำกว่าพันธุ์ยางในกลุ่มที่ 1 และ 2 เหมาะสำหรับเป็นพันธุ์ที่จะปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการผลิตเนื้อไม้

cr.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) 

สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์

ปุ๋ยทิพย์