การปลูกอ้อย ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด หลังน้ำท่วมขัง สู่การสร้างรายได้

04 ตุลาคม 2565

สำนักงานพัฒนาที่ดิน แนะวิธีการปลูกอ้อยคั้นน้ำในพื้นที่ดินเปรี้ยว หลังน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน สู่การสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน

สำนักงานพัฒนาที่ดิน แนะวิธีการปลูกอ้อยในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด โดยการปรับสภาพพื้นที่ ดินเปรี้ยวจัดเป็นดินที่มีสภาพเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง จำเป็นต้องมีการขุดคูยกร่องเพื่อระบายน้ำออก จากนั้นจึงไถพรวนดินและตากดินทิ้งไว้นาน 3-5 วัน

เผยการปลูกอ้อยคั้นน้ำ ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด หลังน้ำท่วมขัง สู่การสร้างรายได้

การปรับปรุงดิน ในการปลูกอ้อยในดินเปรี้ยวจัดจำเป็นต้องมีการปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมในการปลูกพืช โดยการใส่หินปูนฝุ่นในอัตรา 2 ตันต่อไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากับดินและทิ้งไว้ 15 วัน ก่อนปลูก และเนื่องจากดินเปรี้ยวจัดเป็นดินเหนียวที่มีการระบายน้ำเลว จึงจำเป็นต้องมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยหมัก ในอัตรา 5 ตันต่อไร่ เพื่อปรับปรุงดินให้ร่วนซุยก่อนทำการปลูกอ้อย

เผยการปลูกอ้อยคั้นน้ำ ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด หลังน้ำท่วมขัง สู่การสร้างรายได้

วิธีการปลูก การปลูกอ้อยคั้นน้ำที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก สามารถเริ่มปลูกได้ตั้งแต่ช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ส่วนการปลูกในระบบร่องสวนที่มีการชลประทาน สามารถปลูกในช่วงเวลาใดก็ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

1) การเตรียมท่อนพันธุ์ ใช้ท่อนพันธุ์ที่มีอายุระหว่าง 6-8 เดือน ให้แต่ละท่อนพันธุ์มีตาอยู่ 2-3 ตา

2) ระยะปลูกระหว่างร่องประมาณ 0.75-1.00 เมตร และระยะห่างระหว่างท่อนพันธุ์ 0.50 เมตร โดยแนวของอ้อยนั้นจะขวางความยาวของร่องหรือวางตามความยาวของร่องก็ได้

3) วางท่อนพันธุ์ในร่องปลูกให้ตาของอ้อยอยู่ด้านข้างของท่อนพันธุ์ เอียง 45 องศา และวางท่อนพันธุ์ตามระยะปลูกที่กำหนด แล้วกลบดินหนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร

เผยการปลูกอ้อยคั้นน้ำ ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด หลังน้ำท่วมขัง สู่การสร้างรายได้

การดูแลรักษา

1) การให้น้ำ จำเป็นต้องมีการให้น้ำตามความต้องการของอ้อย โดยแบ่งการให้น้ำเป็น 3 ระยะคือ (1) ระยะอ้อยเริ่มงอกจนเริ่มมีใบจริง (อายุ 4-6 สัปดาห์หลังปลูก) (2) ระยะที่รากรุ่นสองงอกจนอ้อยเริ่มแตกกอ (อายุ 2-4 เดือนหลังปลูก) ซึ่งเป็นระยะที่อ้อยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงควรมีการให้น้ำมากขึ้นทุก 1-2 สัปดาห์ และ (3) ระยะอ้อยเริ่มแก่ ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เดือน ควรหยุดการให้น้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำตาลใน ลำต้นอ้อย

2) การใส่ปุ๋ย โดยทั่วไปจะแบ่งการใส่ปุ๋ยเป็น 2 ครั้งคือ ครั้งแรกเมื่ออ้อยอายุ 1 เดือน ใส่ปุ๋ย  16-8-8 อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ และครั้งที่ 2 เมื่ออ้อยอายุ 3 เดือน ใส่ปุ๋ย 16-8-8  อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่

3) การกำจัดวัชพืช การกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยหลายๆวิธีปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้
(1) การเตรียมดินก่อนปลูก เริ่มจากการไถและเตรียมแปลงโดยการตากดิน 7-15 วัน ช่วยให้เศษรากเหง้าวัชพืชถูกแดดเผาทำลาย (2) การไถพรวน ทำให้รากวัชพืชหลุดจากดินและแห้งตาย (3) การดายวัชพืชด้วยแรงงานคน เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกน้อยๆ เงินทุนน้อย (4) การคลุมดินด้วยใบและยอดอ้อยภายหลังการเก็บเกี่ยว (5) การใช้สารกำจัดวัชพืช ตัวอย่างสารกำจัดวัชพืชที่นิยมใช้ในไร่อ้อยคั้นน้ำ เช่น ไดยูรอน เมทริบูซีน อ็อกซี่ฟลูออร์เฟน อะทราซีน และไกลโฟเสท

การเก็บเกี่ยว อายุที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยวอ้อยคั้นน้ำ คือ ช่วงอายุ 8-10 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำอ้อย มีความหวานพอเหมาะต่อการบริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาด

เผยการปลูกอ้อยคั้นน้ำ ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด หลังน้ำท่วมขัง สู่การสร้างรายได้

ผลตอบแทน

จากการรวบรวมข้อมูลผลตอบแทนของเกษตรกรที่ได้เข้ามาศึกษาดูงาน ขอคำแนะนำ และขอรับ  ท่อนพันธุ์อ้อยจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อนำไปปลูกทั้งที่จำหน่ายแบบอ้อยลำและแปรรูปเป็นน้ำอ้อยสด พบว่า การปลูกอ้อยพันธุ์อ้อยคั้นน้ำแต่ละพันธุ์มีต้นทุนการปลูกที่ใกล้เคียงกันโดยประมาณ 9,400 บาทต่อไร่ต้นทุนการผลิตน้ำอ้อยโดยประมาณ 13,000 บาท แต่ผลตอบแทนที่ได้รับมีความความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับผลผลิตที่ได้รับจากแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้

ผลตอบแทนจากการปลูกอ้อยพันธุ์สิงคโปร์ พบว่า ได้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 1,900 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าจำหน่ายแบบอ้อยลำ กิโลกรัมละ 7 บาท มีรายได้รวม 13,300 บาทต่อไร่ ได้กำไรสุทธิ 3,900 บาทต่อไร่  หากแปรรูปเป็นน้ำอ้อยสดได้ผลผลิตน้ำอ้อยสด 2,100-2,800 ลิตรต่อไร่ จำหน่ายในราคาลิตรละ 30 บาท มีรายได้จากการขายน้ำอ้อย 63,000-84,000 บาทต่อไร่ ได้กำไรสุทธิ 40,600-61,600 บาท

ผลตอบแทนจากการปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 และอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 72 พบว่าได้ผลผลิตในอัตราที่ใกล้เคียงกันโดยเฉลี่ยประมาณ 3,300 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าจำหน่ายแบบอ้อยลำ กิโลกรัมละ 7 บาท มีรายได้รวม 23,100 บาทต่อไร่ ได้กำไรสุทธิ 13,700 บาทต่อไร่ หากแปรรูปเป็นน้ำอ้อยสดได้ผลผลิตน้ำอ้อยสด 4,600-5,200 ลิตรต่อไร่ จำหน่ายในราคาลิตรละ 30 บาท มีรายได้จากการขายน้ำอ้อย 138,000-156,000 บาทต่อไร่ ได้กำไรสุทธิ 115,600-133,600 บาท จากผลตอบแทนที่ได้รับส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายอ้อยคั้นน้ำ มีอาชีพ ลดอัตราการว่างงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เผยการปลูกอ้อยคั้นน้ำ ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด หลังน้ำท่วมขัง สู่การสร้างรายได้

สำหรับเกษตรกรที่มีสภาพพื้นที่เป็นดินเปรี้ยวจัดและสนใจปลูกอ้อยคั้นน้ำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ งานวิชาการและประสานงาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ 

สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์

ปุ๋ยทิพย์