ศูนย์วิจัยพืชไร่ แนะการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมใช้เอง

16 กันยายน 2565

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยวิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมใช้เองหรือเชิงการค้า เพิ่มช่องทางการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่รับผิดชอบในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จนถึงปัจจุบันได้แนะนำพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมทนทานแล้งพันธุ์นครสวรรค์ 3 นครสวรรค์ 4 และ นครสวรรค์ 5 ออกสู่เกษตรกรรวมทั้งสายพันธุ์แท้พ่อและแม่ สนับสนุนให้เครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ อาทิ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สหกรณ์การเกษตร และเกษตรกร สามารถนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพเพื่อใช้ หรือจำหน่าย   เป็นการเพิ่มช่องทางการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมของกรมวิชาการเกษตร ออกสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจเมล็ดพันธุ์รายย่อยที่ยังขาดงานด้านวิจัยและพัฒนา ให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของตน ที่มีคุณภาพทัดเทียม และสามารถแข่งขันได้ในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ สอดรับการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชหรือ Seed Hub ในระดับสากล

ศูนย์วิจัยพืชไร่ แนะการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมใช้เอง

การส่งเสริม เผยแพร่ และกระจายพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม โครงการต้นแบบหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม เป็นต้น การแนะนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ สายพันธุ์แม่-พ่อ สำหรับส่งเสริมให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร นำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรไทย

การปลูกข้าวโพดเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์มีวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างจากการปลูกข้าวโพดทั่วไปที่ปลูกเพื่อเก็บฝักขายสำหรับนำไปทำอาหารสัตว์  หากเกษตรกร หรือ กลุ่มเกษตรกร สนใจที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับเก็บไว้ใช้เอง หรือเอาไว้ใช้ในกลุ่ม หรือ เพื่อจำหน่ายให้เพื่อนบ้าน เพื่อลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์และสร้างรายได้ สามารถทำได้โดยติดต่อขอซื้อเมล็ดสายพันธุ์แท้ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ และพันธุ์พ่อในราคากิโลกรัมละ 200 บาท สำหรับนำไปผลิตข้าวโพดลูกผสม นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องมีความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ด้วย

ศูนย์วิจัยพืชไร่ แนะการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมใช้เอง

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 พันธุ์นครสวรรค์ 4 และพันธุ์นครสวรรค์ 5

1. การเลือกพื้นที่
เพื่อป้องกันการปนละอองเกสร แปลงผลิตควรห่างจากแปลงข้าวโพดพันธุ์อื่น ไม่น้อยกว่า 300 เมตร หรือปลูกห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ไม่ควรมีเมล็ดข้าวโพดเก่าตกค้างในแปลง ควรมีการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และน้ำไม่ขัง
2. การปลูก
2.1) การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3
ปลูกแถวสายพันธุ์แท้ พันธุ์แม่ (ตากฟ้า 1) 4 แถว สลับด้วยสายพันธุ์แท้ พันธุ์พ่อ (ตากฟ้า 3) 1 แถว ลับกันไปจนเต็มพื้นที่ปลูก ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์แม่ 3 กิโลกรัม และสายพันธุ์พ่อ 1 กิโลกรัม โดยใช้ระยะระหว่างแถว 65-75 ซม. ระยะระหว่างต้น 15- 20 ซม. 1 ต้นต่อหลุม โดยปลูกสายพันธุ์แท้พันธุ์แม่และพันธุ์พ่อพร้อมกัน

2.2) การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4
ปลูกแถวสายพันธุ์แท้ พันธุ์แม่ (ตากฟ้า 1) 4 แถว สลับด้วยสายพันธุ์แท้ พันธุ์พ่อ (ตากฟ้า 4) 1 แถว สลับกันไปจนเต็มพื้นที่ปลูก ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์แม่ 3 กิโลกรัม และสายพันธุ์พ่อ 1 กิโลกรัม โดยใช้ระยะระหว่างแถว 65-75 ซม. ระยะระหว่างต้น 15- 20 ซม. 1 ต้นต่อหลุม โดยปลูกสายพันธุ์แท้พันธุ์แม่และพันธุ์พ่อพร้อมกัน

2.3) การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 5
ปลูกแถวสายพันธุ์แท้ พันธุ์แม่ (ตากฟ้า 7) 4 แถว สลับด้วยสายพันธุ์แท้ พันธุ์พ่อ (ตากฟ้า 5) 1 แถว สลับกันไปจนเต็มพื้นที่ปลูก ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์แม่ 3 กิโลกรัม และสายพันธุ์พ่อ 1 กิโลกรัม โดยใช้ระยะระหว่างแถว 65-75 ซม. ระยะระหว่างต้น 15- 20 ซม. 1 ต้นต่อหลุม
ควรปลูกข้าวโพดสายพันธุ์แท้พ่อ (ตากฟ้า 5) ก่อนสายพันธุ์แม่ (ตากฟ้า 7) 4 วัน เพื่อให้เกิดการผสมระหว่างละอองเกสรและไหมที่สมบูรณ์ และได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์สูง

3.การใส่ปุ๋ย
ควรวิเคราะห์ดินก่อนปลูก เพื่อใส่ปุ๋ยให้เหมาะสม หรือใส่ตามคำแนะนำทั่วไป คือ
1.ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก ใส่ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
2.ระยะ 21-30 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยเคมี 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่
3.ระยะ 40-45 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยเคมี 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่

4. การคัดพันธุ์ปน
เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์ ต้องตัดต้นที่มีลักษณะผิดไปจากสายพันธุ์แท้พันธุ์แม่และพันธุ์พ่อ เช่น สีของใบ ต้น ดอก และไหม ความสูงของต้น ทรงต้น มุมใบ เป็นต้น พร้อมกับกำจัดต้นที่เป็นโรคและแมลงทำลาย รวมทั้งต้นอ่อนแอ ควรตรวจสอบและตัดพันธุ์ปนใน 5 ครั้ง คือ ระยะถอนแยก ก่อนออกดอก ออกดอก ติดเมล็ด และก่อนเก็บเกี่ยว

5. การกำจัดช่อดอกตัวผู้ในแถวสายพันธุ์แท้พันธุ์แม่
ต้องกำจัดช่อดอกตัวผู้ทุกวันและทุกต้น ในช่วงข้าวโพดออกดอก ก่อนโปรยละอองเกสร เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ทำได้โดยดึงหรือเด็ดช่อดอกทั้งช่อออก อย่าให้เหลือกิ่งช่อดอก เพราะกิ่งเล็ก ๆ ในช่อดอกก็โปรยละอองเกสรได้

6. การเก็บเกี่ยว
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการเก็บเกี่ยว เกษตรกรต้องตัดต้นสายพันธุ์แท้พันธุ์พ่อทั้งหมด หลังจากช่อดอกตัวผู้ในแถวพ่อโปรยละอองเกสรหมดแล้ว และนำต้นที่ตัด ออกไปจากแปลง
เก็บเกี่ยวฝักจากต้นแม่ เมื่อข้าวโพดแห้งทั้งต้น การปล่อยฝักแห้งไว้ในแปลงนานเกินไป มีผลให้ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ลดลง

7. การปรับปรุงสภาพ
ฝักที่เก็บเกี่ยวแล้ว คัดเฉพาะฝักสมบูรณ์ตรงตามพันธุ์ ตากฝักให้แห้ง แล้วกะเทาะเมล็ด เป่าลมทำความสะอาด คัดเมล็ดที่สมบูรณ์เป็นเมล็ดพันธุ์
หากมีตะแกรงคัดขนาดเมล็ดพันธุ์ ใช้ตะแกรงรูเปิดกลมขนาด 20/64 นิ้ว และ 18/64 นิ้ว ร่อนคัดขนาดเมล็ดพันธุ์ให้สม่ำเสมอ เก็บเมล็ดพันธุ์ใส่ถุงปิดสนิท เมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษา ความชื้นไม่ควรเกิน 12 %

8. การทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์
ก่อนเก็บรักษาและก่อนปลูก ควรทดสอบความงอก เพื่อให้มั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง โดยสุ่มเมล็ดพันธุ์ทดสอบความงอกในกระดาษเพาะหรือทราย หรือดินชุ่มน้ำ
เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ควรมีความงอกไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 90 โดยนับความงอกจากต้นกล้าที่มีราก ต้นและใบสมบูรณ์

 

หากสนใจผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์ใหม่ “นครสวรรค์ 4 และ นครสวรรค์ 5” ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-5624-1019

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์

สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์

ปุ๋ยทิพย์