มะพร้าวกะทิลูกผสม ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูงมีกลิ่นหอม

01 กรกฎาคม 2565

สถาบันวิจัยพืชสวน ผุดมะพร้าวกะทิลูกผสม ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูงมีกลิ่นหอม สร้างรายได้สูงกว่ามะพร้าวธรรมดา 3 – 5 เท่า 

เนื่องจากการปลูกมะพร้าวเพื่อเก็บผลผลิตขายจะให้รายได้ต่ำ ไม่เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรบำรุงรักษาสวนมะพร้าว เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวจำนวนมากเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ถ้าเกษตรกรหันมาปลูกมะพร้าวกะทิจะมีรายได้สูงกว่ามะพร้าวธรรมดา 3 – 5 เท่า

มะพร้าวกะทิลูกผสม ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูงมีกลิ่นหอม

ดังนั้น สถาบันวิจัยพืชสวนจึงได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิ ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ เริ่มตั้งแต่การศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ การผสมข้ามพันธุ์ การศึกษาการเจริญเติบโตของต้นกล้าพันธุ์ลูกผสม การเปรียบเทียบพันธุ์ และการคัดเลือกพันธุ์ทั้งด้านผลผลิตและคุณภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538–2548 จากสวนผลิตพันธุ์มะพร้าวคันธุลี ที่ศูนย์วิจัยยางสุราษฏร์ธานี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งได้สร้างสวนมะพร้าวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 และได้ทำการปลูกต้นแม่พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์น้ำหอม พันธุ์ทุ่งเคล็ด พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย และพันธุ์มลายูสีแดงต้นเตี้ย พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ยและสีแดงต้นเตี้ยนี้ นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย และพันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง นำเข้ามาจากประเทศไอวอรี่โคสท์

มะพร้าวกะทิลูกผสม ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูงมีกลิ่นหอม

สำหรับพันธุ์มะพร้าวกะทิที่ใช้เป็นต้นพ่อพันธุ์ เพื่อเก็บดอกเกสรตัวผู้มาผลิตละอองเกสร ได้รับความเอื้อเฟื้อจากบริษัทอุติ เมล็ดพันธุ์ปาล์ม จำกัด อนุญาตให้สถาบันวิจัยพืชสวนไปทำการศึกษาและคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวกะทิ สำหรับใช้เป็นต้นพ่อพันธุ์ เพื่อปรับปรุงพันธุ์หรือสร้างลูกผสมมะพร้าวกะทิ จากการศึกษาค้นคว้า พบว่า มะพร้าวกะทิลูกผสมระหว่างน้ำหอม x กะทิ (NHK) และมลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x กะทิ (YDK) เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะที่ดี จึงนำเสนอให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาเพื่อรับรองเป็นพันธุ์แนะนำ

ลักษณะประจำพันธุ์

มะพร้าวกะทิลูกผสมพันธุ์ชุมพร 84-2 หรือมะพร้าวพันธุ์ NHK ต้นแรกออกจั่นเมื่ออายุ 2 ปี 7 เดือน มีจำนวนต้นออกจั่นครบร้อยละ 50 ของจำนวนต้นที่ปลูกอายุ 3 ปี 3 เดือน ความสูงของจั่นแรก เมื่อมะพร้าวออกจั่นแรก หลังจากติดผล ทะลายมะพร้าวจะโน้มลง ทำให้ผลมะพร้าวปลายทะลายอยู่ต่ำลงตามความยาวของจั่น พันธุ์ NHK มีผลปลายทะลายอยู่เหนือพื้นดิน 71 เซนติเมตร พันธุ์ NHK ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ 348 ผล/ไร่ และให้ผลผลิตมะพร้าวธรรมดา 1,569 ผล/ไร่ ลักษณะพิเศษของ NHK คือร้อยละ 55 ของต้นมะพร้าวที่ปลูก จะให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอม ซึ่งในแต่ละต้นจะให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิร้อยละ 25 และเป็นผลให้มะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอมร้อยละ 6 ในช่วงอายุ 4-7 ปี ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ 348 ผล/ไร่ มะพร้าวธรรมดา 1,569 ผล/ไร่ เนื้อมะพร้าวกะทิมีเปอร์เซ็นต์ไขมันประมาณร้อยละ 10.69 เนื้อมะพร้าวธรรมดามีเปอร์เซ็นต์น้ำมันประมาณร้อยละ 57 มะพร้าวธรรมดามีเนื้อมะพร้าวแห้งต่อผลเฉลี่ย 312 กรัม ผลมะพร้าวกะทิ มีเนื้อมะพร้าวกะทิเฉลี่ย 730 กรัม/ผล แยกเป็นพวก - มีเนื้อฟูเต็มกะลา น้ำข้นเหนียวร้อยละ 19.55 - เนื้อฟูปานกลาง น้ำข้นเล็กน้อยร้อยละ 42.46 - เนื้อฟูเล็กน้อย น้ำใสร้อยละ 37.99 ผลมะพร้าวกะทิที่มีเนื้อและน้ำหอมสามารถปรับปรุงพันธุ์ต่อไปโดยการเพาะเลี้ยงเอมบริโอจะได้ต้นพันธุ์ที่เป็นมะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ย เนื้อมะพร้าวกะทิมีเส้นใยอาหาร 6.93 กรัม/100 กรัม ซึ่งสูงกว่าเนื้อมะพร้าวธรรมดา 3.3 เท่า

มะพร้าวกะทิลูกผสม ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูงมีกลิ่นหอม

ลักษณะเด่น

1. ให้ผลผลิตรวม 3 ปีแรก 1,917 ผลต่อไร่ โดยให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิ ไม่น้อยกว่า 18 เปอร์เซ็นต์

2. ต้นแรกออกจั่นอายุ 2 ปี 7 เดือน และต้นมะพร้าวจำนวนครึ่งหนึ่งของสวน ออกจั่นเมื่อ 3 ปี 3 เดือน ให้ผลผลิตเมื่อทลายแรกสูงจากพื้นดิน 71 เซนติเมตร

3. ต้นมะพร้าวจำนวน 55 เปอร์เซ็นต์ ของสวนให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอม ซึ่งในแต่ละต้นจะให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ 25 เปอร์เซ็นต์ และเป็นมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอม 6 เปอร์เซ็นต์

 

พื้นที่แนะนำ

พื้นที่ที่เหมาะสม ควรมีอุณหภูมิเฉลี่ย 20 -34 องศาเซลเซียส หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ปลูกในที่ที่มีการระบายน้ำดี ถ้าปลูกในที่ลุ่ม ควรยกร่อง ไม่ควรปลูกที่สูงเกิน 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในกรณีพื้นที่ปลูกแล้งนานเกิน 3 เดือน ต้องมีระบบการให้น้ำอย่างเพียงพอ

มะพร้าวกะทิลูกผสม ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูงมีกลิ่นหอม

ข้อควรระวัง

ปลูกให้ห่างจากมะพร้าวธรรมดา ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ ให้ห่างจากมะพร้าวธรรมดาอย่างน้อย 300 เมตร ถ้าเป็นทุ่งโล่งให้ห่างจากมะพร้าวธรรมดาอย่างน้อย 5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการผสมข้ามหรือถ่ายละอองเกสร (เรณู) จากละอองเกสรมะพร้าวธรรมดา ซึ่งจะทำให้ได้ผลมะพร้าวกะทิไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ (ตามกฎของเมนเดล)

มะพร้าวกะทิลูกผสม ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูงมีกลิ่นหอม

ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยพืชสวน