เปิด วิธีไหว้ขอพร ศาลหลักเมือง กรุงเทพ

06 มิถุนายน 2565

วิธีไหว้ขอพร ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเรา อยู่ไม่ไกล ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ในกรุงเทพแค่นี้เองค่ะ

กรุงเทพมหานคร มีสถานที่สำคัญต่างๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์มากมายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม พระบรมมหาราชวัง ที่สำคัญไม่แพ้กันเลยสถานที่แห่งนี้เรียกว่า ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร ค่ะ สถานที่แห่งนี้มีตำนานความเป็นมาตั้งแต่อดีต เดี๋ยวเราจะเล่าในบทความนี้ค่ะ พร้อม วิธีไหว้ขอพรศาลหลักเมือง ต้องทำอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

เปิด วิธีไหว้ขอพร ศาลหลักเมือง กรุงเทพ

ประวัติ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ใกล้ๆ กับ กระทรวงกลาโหม เป็นศาลที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ใน สมัยรัชกาลที่ 1 ปี พ.ศ. 2325 ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำ พิธียกเสาหลักเมือง ในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้นนั่นเอง

พระราชพิธียกเสาหลักเมือง ขึ้นนั้น ได้ใช้เป็น เสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 กลางพระนครใหม่ ที่พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” ซึ่งเราเรียกต่อกันมาว่า “กรุงเทพมหานคร” ค่ะ

สถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่อยู่คู่กรุงเทพมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันศาลหลักเมืองกรุงเทพนั้นมี เสาหลักเมือง 2 เสา ด้วยกัน เพราะเสาเดิมมีการชำรุดลงอย่างมาก และในสมัย รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปค่ะ

เสาหลักเมืองใหม่นี้ เสาไม้สัก เป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลายประสบความเจริญรุ่งเรืองถาวรยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ

เปิด วิธีไหว้ขอพร ศาลหลักเมือง กรุงเทพ

ศาลหลักเมือง ได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ.2523 มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี ทำให้ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม

ศาลาศาลหลักเมือง ปัจจุบันนี้ มีรูปแบบเป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ 1 ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาในอดีต ซึ่งได้รับการออกแบบโดย พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม และ รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชวินิจฉัยในงานออกแบบครั้งนี้ด้วย

ศาลเทพารักษ์ ภายในศาลหลักเมืองกรุงเทพ

นอกจาก เสาหลักเมือง แล้ว ภายในศาลหลักเมือง ยังสร้าง ศาลเทพารักษ์ เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่

  1. พระเสื้อเมือง
  2. พระทรงเมือง
  3. พระกาฬไชยศรี
  4. เจ้าเจตคุปต์
  5. เจ้าหอกลอง

และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นภายในอีกด้วย ซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน

ขั้นตอนการไหว้ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

การไหว้ศาลหลักเมืองที่ถูกต้องนั้น จะมีอยู่ 5 จุดด้วยกัน ซึ่งต้องเรียงไปตามลำดับค่ะ

จุดที่ 1 หอพระพุทธรูป

จุดที่ 2 องค์พระหลักเมือง จำลอง

จุดที่ 3 องค์พระหลักเมือง องค์จริง

จุดที่ 4 หอเทพารักษ์ทั้ง 5

จุดที่ 5 เติมน้ำมันพระประจำวันเกิด และสะเดาะเคราะห์

ตามความเชื่อของการสร้างเสาหลักเมือง เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อธิบายไว้ว่า การสร้างหลักเมือง เป็นประเพณีพราหมณ์ที่มาแต่อินเดีย และประเทศไทย ก็ได้ตั้งหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์

โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองนั้น มีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะว่าเสาหลักเมืองจะเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปกป้องคุ้มครองเมืองนั้นๆ นั่นเองค่ะ

นอกจากนี้ ยังมี ตำนานศาลหลักเมือง ที่ไม่มีบันทึกในพงศาวดาร เป็นเรื่องเล่าปากต่อปากกันว่า ในพิธีฝังเสาหลักเมืองนั้น จะจับคน 4 คน ฝังลงไปในหลุมทั้งเป็น เพื่อให้วิญญาณของคนเหล่านั้นอยู่เฝ้าหลักเมือง เป็นผีเฝ้าคุ้มครองบ้านเมือง ป้องกันภัยต่างๆ จากศัตรู ซึ่งความเชื่อนี้ เป็นเพียงเรื่องเล่าค่ะ

การตั้งเสาหลักเมือง เป็นไปตามความเชื่อ และสิริมงคลแก่บ้านเมืองต่างๆ ที่ได้สร้างขึ้น ทำให้นอกจาก กรุงเทพฯ แล้ว จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยก็มีศาลหลักเมืองเช่นกันค่ะ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในเมืองนั่นเอง

เปิด วิธีไหว้ขอพร ศาลหลักเมือง กรุงเทพ

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักกิจการศาลหลักเมือง หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร