กิจกรรมในวัน มาฆบูชา ที่ประชาชนสนใจและอยากทำมากที่สุด

15 กุมภาพันธ์ 2565

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อวันมาฆบูชา ปี 2565 (16 กุมภาพันธ์ 2565) จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 6,651 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค โดยมีผลสรุปดังนี้

กิจกรรมในวัน มาฆบูชา ที่ประชาชนสนใจและอยากทำมากที่สุด กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อวันมาฆบูชา ปี 2565 (16 กุมภาพันธ์ 2565) จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 6,651 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค โดยมีผลสรุปดังนี้

เด็ก เยาวชนและประชาชน

ร้อยละ 66.61 เห็นว่า วันมาฆบูชามีความสำคัญคือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน 3

ร้อยละ 62.98 เป็นวันพระสงฆ์ล้วนเป็นพระอรหันต์มาชุมนุมพร้อมกัน 1,250 รูป โดยมิได้นัดหมาย 

ร้อยละ 54.19 มีการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้บริสุทธิ์

ร้อยละ 43.35 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชาในปีนี้

ร้อยละ 39.87 ไม่แน่ใจแล้วแต่โอกาส

ร้อยละ 16.78 ไม่สนใจเข้าร่วมเนื่องจากกลัวติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ไม่อยากออกจากบ้าน ไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันโควิด-19 เป็นต้น

กระทรวงวัฒนธรรม เผยผลโพล วันมาฆบูชา 2565

กิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชาที่สนใจอยากเข้าร่วม 5 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 ตักบาตรพระสงฆ์

อันดับ 2 ทำบุญ ทำทาน

อันดับ 3 ลด ละ เลิก อบายมุข

อันดับ 4 ฟังพระธรรมเทศนา

อันดับ 5 เวียนเทียน

ส่วนรูปแบบการจัดกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อันดับ 1 จัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์  

อันดับ 2 จัดกิจกรรมทั้งรูปแบบปกติและรูปแบบออนไลน์ควบคู่กัน

วันมาฆบูชา 2565

ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถามในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชน ตั้งใจนำหลักธรรมมายึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ได้แก่

อันดับ 1 สติ

อันดับ 2 ศีล 5

อันดับ 3 อริยสัจ 4  ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)  

อันดับ 4 อิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)

อันดับ 5 พรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)

ผลสำรวจได้สอบถามถึง วิธีจูงใจให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชามากขึ้น 5 อันดับแรก พบว่า

1. พ่อ แม่ / ปู่ย่า ตายาย / ญาติ พี่น้อง พาลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชา

2. หน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน และคณะสงฆ์ บูรณาการการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในมิติทางศาสนา โดยดำเนินกิจกรรมฯ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

3. ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์

4. เปิดแหล่งเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมหรือเรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์

5. นำศิลปินดารา บุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมรณรงค์/เชิญชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม ได้มีแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรม / ประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ควรสืบสานรักษาไว้ให้คงอยู่คู่สังคมไทย เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีและวัฒนธรรมในวันสำคัญของชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ บุญประจำประเพณี เทศกาลต่างๆ ของท้องถิ่นและชาติ

อาทิ สารทเดือนสิบฮีตสิบสอง ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเพณีและวัฒนธรรมประจำชาติของพุทธศาสนิกชนคนไทย รวมทั้งการจัดกิจกรรมทำบุญ ตักบาตร, เวียนเทียน ฟังธรรม เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น

ขอบคุณ : กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต