ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ สมบัติชาติที่หายจากแผ่นดินไทยนานนับ 30 ปี

13 พฤศจิกายน 2564

ปราสาทหินอีกหนึ่งความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับประติมากรรมล้ำค่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง ที่หายไปจากแผ่นดินไทยและไปอยู่ในการครอบครองของชาวต่างชาติร่วม 30 ปี

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง เป็นโบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไทย ที่เชื่อว่าถูกโจรกรรมไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2503 ในช่วงสงครามเวียดนาม และถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐ แต่ในที่สุดชาวไทยนำโดยรัฐบาล และ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ก็ได้ทับหลังชิ้นนี้คืนมาในปี พ.ศ. 2531

ในปี พ.ศ. 2508 กรมศิลปากรพบชิ้นส่วนบางชิ้นของทับหลัง ที่ร้านขายของเก่าย่านราชประสงค์จึงได้ยึดคืนมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ดร. ไฮแรม วูดเวิร์ด จูเนียร์ อดีตอาสาสมัครสันติภาพ ที่เคยสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ไปพบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นนี้ ที่สถาบันศิลปะ นครชิคาโก สหรัฐ และทรงมีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมศิลปากรอย่างเป็นทางการว่าควรจะขอกลับคืน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2531 ขณะที่การบูรณะปราสาทหินพนมรุ้งใกล้จะเสร็จเรียบร้อย มีการรื้อฟื้นเรื่องการขอคืนทับหลังขึ้นมาใหม่ ซึ่งครั้งนี้ได้รณรงค์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในกรุงเทพมหานคร ต่างจังหวัด ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในนครชิคาโก รวมทั้งชาวอเมริกันและชาติอื่น ๆ ได้ให้การสนับสนุน

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมี รองศาสตราจารย์วันชัย วัฒนกุล อธิการบดีวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ เป็นประธาน อาจารย์เทียนชัย ให้ศิริกุล และ ผศ. วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ เป็น เลขาฯ ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้าประชาชน และนักเรียนนักศึกษา กว่า 15,000 คนได้ชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องขอทับหลังคืน โดยทำหนังสือถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายพร อุดมพงษ์ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 สถาบันศิลปะ นครชิคาโก ได้ส่งทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กลับคืนสู่ประเทศไทย ในพระนามของศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ทับหลังจะถึงสนามบินดอนเมืองในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 โดยสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์

ทับหลัง คือ ส่วนโครงสร้างแนวนอน ทำหน้าที่รับน้ำหนักของผนังซึ่งอยู่เหนือช่องว่าง อาทิ วงกบประตูหรือหน้าต่าง และถ่ายน้ำหนักลงไปยังเสาเอ็นและยึดประตูและหน้าต่างเข้ากับผนัง นอกจากนี้ยังใช้เรียกสิ่งที่อยู่บนหน้าต่างหรือประตูหลังกรอบเช็ดหน้า ใช้บังคับปลายเดือยบานแผละหน้าต่างหรือประตูว่า "ทับหลังหน้าต่าง" หรือ "ทับหลังประตู"

ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

ในประเทศไทย ทับหลัง หมายความ รวมถึงลวดลายที่ทำประดับไว้บนหลังตู้ หรือท่อนหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่สลักเป็นลวดลายต่าง ๆ ประดับอยู่เหนือประตูเข้าปราสาทหิน เช่น ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง

ปัจจุบัน ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ได้นำกลับไปติดตั้งยังปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

ปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
ลวดลายบน ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งปราสาทเขาพนมรุ้ง สลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาเหนือพญานาคซึ่งทอดตัวอยู่เหนือมังกรอีกที เศียรของพญานาคแผ่ป้องเป็นรูปพัดอยู่เหนือเศียรพระนารายณ์ ส่วนที่สะดือหรือนาภีของพระนารายณ์มีดอกบัวผุดออกมาแยกเป็นหลายก้าน ตรงกลางของดอกบัวมีพระพรหมสี่หน้าประทับอยู่

ลวดลายบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทเขาพนมรุ้ง

ส่วนปลายพระบาทของพระนารายณ์นั้นปรากฏรูปพระลักษมี ซึ่งเป็นพระชายาของพระองค์ประทับอยู่ ตรงเสี้ยวของทับหลังเป็นรูปหน้ากาลคายพวงอุบะขนาดใหญ่ มีตุ้มเป็นดอกบัวขาบ เหนือหน้ากาลมีครุฑยุดนาคข้างละตัว นอกจากนี้ยังมีสัตว์อีกหลายชนิด เช่น นกแก้ว ลิงอุ้มลูก และ นกหัสดีลิงค์คาบช้างเป็นอาหาร

สมบัติล้ำค่ามรดกของชาติ ควรเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้ชื่นชมและเชิดชู  อย่าเห็นแค่อิฐเก่าๆ แล้วนำไปหาประโยชน์ส่วนตน เพียงแค่อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีคุณค่าเราควรช่วยกันอนุรักษ์และรักษาไว้ 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : รศ. วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ , TNEWS