โบราณวัตถุ 2 ชิ้นสำคัญ กลับคืนสู่แผ่นดินไทยอีกครั้ง

21 พฤษภาคม 2567

ประติมากรรม ศิลปะเขมรในประเทศไทย ที่หายไปเมื่อ 50 ปีก่อน หรือ โกลเด้นบอย ทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งมอบให้ประเทศไทยวันนี้

โบราณวัตถุ 2 ชิ้นสำคัญ กลับคืนสู่แผ่นดินไทยอีกครั้ง 

 

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่าประวัติศาสตร์การได้โบราณวัตถุคืนอย่างเร็วที่สุด หลังจากที่เราได้ติดตามขอคืนไปเมื่อปีที่แล้ว เมื่อวานได้เห็นโบราณวัตถุ 2 ชิ้นสำคัญ มีความรู้สึกตื่นเต้นและตื้นตันใจเป็นอย่างมาก กับการได้คืนมาของ โกลเด้นบอย หรือ Golden Boy แสดงให้เห็นว่าควรจดจำมากกว่า และเป็นการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ และเชื่อว่าการกลับคืนมาของโกลเด้นบอยในครั้งนี้จะเป็นการกลับคืนสู่แผ่นดินแม่อย่างถาวร ขอขอบคุณทุกคนผู้อยู่เบื้องหลังในครั้งนี้

 

โบราณวัตถุ 2 ชิ้นสำคัญ กลับคืนสู่แผ่นดินไทยอีกครั้ง

พระศิวะ ศิลปะเขมรในประเทศไทย (โกลเด้นบอย หรือ Golden Boy)

 

พระศิวะ

ศิลปะเขมรในประเทศไทย สมัยเมืองพระนคร แบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ ๑๖ (ประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว) สำริดกะไหล่ทอง ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน
สูง (รวมเดือย) ๑๒๘.๙ กว้าง ๓๕.๖ ลึก ๓๔.๓ ซ.ม. สูงไม่รวมเดือย ๑๐๕.๔ ซ.ม.

 

ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นรูปสำริดที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังหลงเหลือจากสมัยเมืองพระนคร เป็นประติมากรรมกลุ่มเล็กๆ ที่มีการหล่อด้วยโลหะเป็นเทพในศาสนาฮินดูที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมของราชสำนัก พบในกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย แม้ว่าประติมากรรมจะถูกติความไว้ว่าเป็นพระศิวะ แต่ท่าทางของพระหัตถ์ทั้งสองที่แตกต่างจากประติมากรรมโดยทั่วไปที่มักจะถือสัญลักษณ์ของพระศิวะ ประติมากรรมนี้จึงอาจหมายถึงพระศิวะในภาคมนุษย์ที่ไม่ค่อยพบในศิลปะเขมรทั่วไปอาจมีความเป็นไปได้

 

ว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์สองอย่างคือ เป็นรูปเคารพเพื่อบูชาในศาสนสถานประจำราชวงศ์ หรือเป็นรูปเคารพของบูรพกษัตริย์

ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ

 

ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ

ศิลปะเขมรในประเทศไทย สมัยเมืองพระนคร แบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ ๑๖ (ประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว) สำริด ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน มีร่องรอยกะไหล่ทอง สูง ๔๓.๒ กว้าง ๑๙.๗ ซ.ม. 

 

ประติมากรรมนี้ สันนิษฐานว่าเป็นพระราชเทวี หรือสตรีชั้นสูงในราชสำนักสวมเครื่องประดับ ประทับชันเข่าพนมมือแสดงความเคารพแด่เทพเจ้า ที่ดวงตาและคิ้วมีร่องรอยการฝังด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นแก้วสีดำ

 

ขอขอบคุณ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม