วัดใหญ่สุวรรณาราม ตามติดกระแสละครดังอย่าง พรหมลิขิต ที่ออกอากาศทางช่อง 3 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ละครดำเนินมาถึงช่วงหนึ่ง ที่ได้ เกรท วรินทร ปัญหกาญจน์ รับบทแสดงเป็น พระเจ้าท้ายสระ ได้พูดถึงในช่วงหนึ่ง ที่พระราชดำเนินไปเมืองพริบพรี วันนี้รายการ ปาฏิหาริย์ ช่วง เจนจิราหามาเล่า ขอนำเสนอ วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดสวย ไปขอพรช่วงส่งท้ายปีใหม่กันค่ะ
ทำความรู้จัก เมืองพริบพรี ซึ่งน้อยคนที่จะรู้ว่าเมืองนี้คือชื่อของเมืองเพชรบุรี ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพัน ๆ ปี เราจะพาทุกคนย้อนเวลากลับไปเรียนรู้เรื่องราวของเมืองพริบพรี ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร
เมืองพริบพรี เป็นชื่อเรียกขานของเมืองเพชรบุรีในสมัยโบราณ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏชื่อเมืองมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรเขมรหรือขอมโบราณ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป แต่ยังคงเค้าเสียงและความหมายเดียวกัน ทั้งนี้ ชื่อ เพชรบุรี มีปรากฏเป็นหลักฐานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มาของชื่อมี 2 ทาง ทางแรกเป็นการเรียกตามชื่อแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นการเรียกตามตํานานที่เล่าสืบกันมาว่า ในสมัยโบราณเคยมีแสงระยิบระยับในเวลากลางคืนที่เขาแด่น ทําให้คนเข้าใจว่ามีเพชรพลอย
นอกจากนี้ยังปรากฏจารึกไว้เป็นหลักฐานในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 โดยกล่าวถึงเมืองในอาณาเขตของสุโขทัยที่อยู่ทางใต้ว่า “…เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว…” อีกด้วย
เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองเพชรบุรี ทั้งในแง่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ผูกเชื่อมโยงสัมพันธ์ส่งต่อกันมาในแต่ละยุคสมัย ในฐานะเมืองที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ
มาถึง วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดสวย จ.เพชรบุรี สถานที่แห่งนี้ เดิมมีชื่อว่า วัดน้อยปักษ์ใต้ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ และสถานที่สำคัญของเพชรบุรีเพราะวัดนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตกแต่งด้วยฝีมืองานช่างที่สวยงดงามและปราณีตไม่ว่าจะเป็น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ ทั้ง ภาพเทพชุมนุม ที่เป็นศิลปะอยุธยา มีความงดงามและความเก่าแก่มากๆ ทำให้ วัดใหญ่สุวรรณราม เคยถูกใช้เป็นฉากในภาพยนตร์หลายเรื่องด้วยกัน แม้ว่าวัดนี้จะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นก็ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ขึ้นมาค่ะ ทั้งการสร้างพระระเบียงคดรอบพระอุโบสถ สร้างหอสวดมนต์ และปรับปรุงทั้ง กุฏิสงฆ์ ศาลาคู่ หอระฆัง รวมไปถึงกำแพงรอบๆ วัด ซุ่มประตู และสระน้ำ
วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี ยังมีพระพุทธรูปที่ลงรักปิดทองอย่างสวยงาม ปางมารวิชัย โดยฐานพระจะตกแต่งลวดลายปูนปั้นและปิดทองประดับกระจกสี นอกจากนั้นก็จะมี พระคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปเก่าแก่ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงอัญเชิญมา รูปหล่อของสมเด็จพระสังฆราชแตงโม เป็นต้นค่ะ
วัดใหญ่ ได้รับการปฏิสังขรณ์ที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอาคารสำคัญ ได้แก่
1. พระอุโบสถเป็นศิลปะอยุธยา มีภาพทวารบาล จิตรกรรมภาพเทพชุมนุมเรียงรายกัน 5 ชั้น จุดเด่นคือภาพยักษ์และอมนุษย์ทั้งหลายเป็นหน้าเนื้อ ไม่ใช่การวาดเหมือนสวมหัวโขนโดยทั่วไป พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยรูปหล่อพระสังฆราชแตงโม หน้าบันเป็นงานรูปปั้นสมัยอยุธยาตอนปลายที่งามพลิ้วราวมีชีวิต วิหารคต
2. ศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณารามเป็นสถาปัตยกรรม-ศิลปกรรมยุคอยุธยาตอนปลาย สร้างด้วยไม้ผนังเป็นฝาปะกน ลงรักปิดทอง แต่การบูรณะผิดพลาดทำให้ถูกทาทับด้วยสีแดงทั้งหลัง เครื่องหลังคาเป็นโครงประดุชนิดมีจันทันต่อ มุงด้วยกระเบื้องกาบูแต่ด้วยการบูรณะที่ไม่ถูกต้องจึงมีการเทปูนตำ(ปูนโบราณ)ลงฉาบทั้งผืนหลังคา แต่ปูนตำเป็นปูนที่ใช้กะดาษฟางเป็นส่วนผสมจึงทำให้อมความชื้นและมีตะใคร่ขึ้นจับหลังคา ศาลาการเปรียญเดิมเป็นของเจ้าฟ้าพระขวัญ ตำหนัก ต่อมาพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ รื้อมาถวายพระสังฆราชแตงโมโดยมีบานประตูแกะสลักที่งดงามและมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และศิลปกรรมนั่นคือเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย และที่บานประตูมีหลัก มีรอยแผลบนประตู ทำให้มีประตูแตก ชำรุดถาวร เรียกรอยพม่าฟัน แต่นักวิชาการให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นการทำลายประตูตั้งแต่ครั้งรื้อตำหนักถวายสมเด็จเจ้าแตงโม (พระสุวรรณมุณี) พระสังฆราช เกี่ยวเนื่องกับเรื่องวิญญานเจ้าฟ้าพระขวัญ เจ้าของตำหนักเดิม ที่ถูกพระเจ้าเสือสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เมื่อครั้งสมเด็จพระเพทราชาประชวรใกล้สวรรคต
3. หอเก็บพระไตรปิฏก เป็นอาคารไม้ผนังฝาปะกน รองรับด้วยเสาไม้ 3เสา จากแนวคิดที่ว่า พระไตรปิฎก ประกอบด้วย 3 ปิฎกคือ พระธรรมปิฏก พระไตรปิฏก และพระสุตันตปิฎก
สำหรับ ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ หากใครสะดวกเดินทางไปไหว้พระขอพร ก็อย่าลืมสถานที่แห่งนี้นะคะ มีทั้งความสวยงาม และ ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นวัดที่ควรค่าแก่การไปเยือนสักครั้งมากๆ เลยค่ะ สุดท้ายนี้ ทีม ปาฏิหาริย์ ขออวยพรให้ทุกท่านมีแต่ความสุข ความเจริญ สุขภาพแข็งแรง ต้อนรับปีใหม่ด้วยใจบริสุทธิ์ สวัสดีปีใหม่นะคะ
ขอบคุณ : ข้อมูลจาก สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบุรี , วิกิพีเดีย ภาพจาก นางสาวขวัญนิดา บุญมี