ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ บุรีรัมย์

27 เมษายน 2566

วันนี้ปาฏิหาริย์ตำนานดัง จะพาไปย้อนดู ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ บุรีรัมย์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองไทย

ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ บุรีรัมย์ สำหรับ ความเป็นมาของอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เป็นปราสาทหินเก่าแก่ที่สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพูเป็นส่วนใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขาไฟเก่าที่ดับสนิทไปแล้วในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งบริเวณนี้ในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากทำผู้คนต่างเข้ามาตั้งถิ่นฐานจนขยายมาเป็นชุมชนใหญ่ 

คำว่า "พนมรุ้ง" มาจากภาษาเขมร แปลว่า "ภูเขาใหญ่" และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ทำให้สันนิษฐานว่าประสาทพนมรุ้งถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 17 และยังปรากฏชื่อผู้สร้างปราสาท คือ “นเรนทราทิตย์” เชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระ ผู้เกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด เพื่อเปรียบเสมือนเป็นที่ประทับของพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย โดยต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นวัดมหายานในทางพุทธศาสนสถานและได้มีการบูรณะก่อสร้างมาเรื่อยๆหลายสมัย จนตอนนี้ได้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้เป็นมรดกโลกอีกด้วย

ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ บุรีรัมย์

ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ประกอบด้วย 

บันไดต้นทาง ก่อด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ 3 ระดับ สุดบันไดขึ้นมาเป็นชาลารูปกากบาท พลับพลา เป็นอาคารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่เยื้องชาลารูปกากบาทไปทางทิศเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องสำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง ที่จะใช้เป็นสถานที่ทำความบริสุทธิ์ให้แก่ตัวตน ก่อนจะเข้าสู่ภายใน
ปราสาทประธาน เป็นทางเดินที่ต่อลงมาจากชาลารูปกากบาททอดไปยังสะพานนาค สองข้างทางมีเสาหินทรายยอดคล้ายดอกบัวตูมจำนวน 70 ต้น เรียกว่า “เสานางเรียง” 

สะพานนาคราช ชั้นที่ 1 เป็นจุดเชื่อมทางดำเนินกับบันไดทางขึ้นปราสาท ราวสะพานเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร สะพานนาคราชมีความหมายเชิงสัญลักษณ์เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ บันไดขึ้นปราสาท เป็นทางเดินขึ้นไปยังลานบนยอดเขา ลานด้านหน้าปราสาท เป็นลานโล่งกว้างสู่ด้านหน้าระเบียงคต 

ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ บุรีรัมย์

สะพานนาคราช ชั้นที่ 2 มีผังและรูปแบบเหมือนสะพานนาคราช ชั้นที่ 1 แต่มีขนาดเล็กกว่า ลานปราสาทและระเบียงชั้นนอก เป็นทางเดินโล่ง ยกพื้นเตี้ย ๆ พื้นปูด้วยศิลาแลง ซุ้มประตูและระเบียงชั้นใน ก่อนถึงตัวปราสาทประธาน มีระเบียงคดล้อมเป็นกำแพงชั้นใน กึ่งกลางระเบียงคดมีซุ้มประตูหรือโคปุระทั้ง 4 ด้าน 

สะพานนาคราช ชั้นที่ 3 เชื่อมระหว่างซุ้มประตูกลางของระเบียงคดชั้นในกับวิหารหน้าปราสาทประธาน ปราสาทประธาน เป็นศูนย์กลางศาสนสถาน สันนิษฐานว่าอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 สร้างด้วยศิลาทรายสีชมพู ภายในเรือนธาตุมีห้อง “ครรภคฤหะ” เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงท่อโสมสูตร ปราสาทประธานตกแต่งลวดลายจำหลักประดับตามส่วนต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพเล่าเรื่องเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เช่น หน้าบันภาพศิวนาฏราช ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ภาพในเรื่องรามเกียรติ์ ภาพฤาษี เป็นต้น 

ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ บุรีรัมย์

ปราสาทอิฐ 2 หลัง สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 นับเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุเก่าที่สุดบนเขาพนมรุ้ง ปรางค์น้อย ภายในห้องมีแท่นฐานหินทรายสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ หน้าบันด้านทิศตะวันออกสลักเป็นรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะอยู่ท่ามกลางลวดลายพันธุ์พฤกษา บรรณาลัย หมายถึง หอสมุด เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา กำหนดอายุการสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18 อาคารก่อด้วยศิลาแลง มีประตูเข้าออกด้านเดียว

ปราสาทแห่งนี้ยังมีสิ่งน่าอัศจรรย์ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสายเลยคือ ปรากฎการณ์ดวงอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน ที่จะมีเพียง 4 ครั้งต่อปีเท่านั้น นั้นคือช่วงดวงอาทิตย์จะขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 5 เมษายน และ 8 - 10 กันยายน เช่นเดียวกันกับในช่วงดวงอาทิตย์ตกระหว่างวันที่ 6 - 8 มีนาคม และ 6 - 8 ตุลาคม ของทุกปี โดยมีความเชื่อกันว่าหากผู้ใดได้ชมแสงที่ส่องผ่านช่องประตูนั้น จะเป็นการเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว 

ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ บุรีรัมย์

นอกจากนี้ยังมีประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปีอีกด้วย ใครที่สนใจอยากจะมาชมความงามและอลังการของปราสาทหินพนมรุ้ง แนะนำว่าให้มาช่วงนี้เลยค่ะ

การเดินทางไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งโดยรถประจำทาง 

1. รถโดยสารจากกรุงเทพฯ - เขาพนมรุ้ง ลงที่เชิงเขาแล้วต่อรถสองแถวขึ้นปราสาท

2. รถสายสายบุรีรัมย์ - จันทบุรี ลงที่หมู่บ้านตะโก และต่อด้วยรถสองหรือวินมอเตอร์ไซค์ไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

3. รถสายบุรีรัมย์ - นางรอง ลงที่สถานีนางรองแล้วต่อรถสองแถวไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ บุรีรัมย์

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้ชมเวลา 6.00-18.00 น. ราคาบัตรคนไทยเฉพาะปราสาทพนมรุ้ง 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท สามารถซื้อบัตรรวมปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำได้ในราคา 30 บาท และ 150 บาทตามลำดับ สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-4463-1711

และนี่คือ เรื่องราวคร่าวๆ เกี่ยวกับ ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์