ประเพณีแห่นางดาน เมืองคอน หนึ่งเดียวในไทย

15 เมษายน 2566

ประเพณีแห่นางกระดาน หรือ พิธีแห่นางดาน ประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์และพุทธ จะมีความเป็นมา ตำนานเรื่องเล่าอย่างไร ไปพบกับ ประเพณีแห่นางดาน เมืองคอน หนึ่งเดียวในไทย

ประเพณีแห่นางดาน เมืองคอน หนึ่งเดียวในไทย โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายในงานจะมีทั้ง การโล้ชิงช้า ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่เหลือให้ดูเพียงแห่งเดียวในโลก ซึ่งปีนี้ทางจังหวัดจัดการแสดงแสง สี เสียง อย่างยิ่งใหญ่ 

มีการตั้งขบวนแห่ “นางดาน” ที่ศาลหลักเมืองมาที่หอพระอิศวร ถนนราชดำเนิน เพื่ออัญเชิญเทพมาสถิตอยู่ในแผ่นไม้กระดานแกะสลักทั้ง 3 แผ่น แผ่นแรกเป็นรูปพระจันทร์-พระอาทิตย์ อีก 2 แผ่น เป็นรูปพระแม่คงคา และพระแม่ธรณี โดยจะทำพิธีแบบพราหมณ์แห่ไปตามถนนเพื่อไปรับพระอิศวรที่จะเสด็จลงมาโลกมนุษย์ เพื่อทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของโลก จากนั้นจะมีพิธีโล้ชิงช้าตามความเชื่อ

ประเพณีแห่นางดาน เมืองคอน หนึ่งเดียวในไทย

ประวัติความเป็นมา

ตาม ความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เมื่อราว พ.ศ. 1200 เป็นงานประเพณีที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อบูชาเทพบริวารในคติพราหมณ์ นางดาน หรือ นางกระดาน  หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอก สูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติความเชื่อของพราหมณ์ จำนวน 3 องค์ ใช้ในขบวนแห่มารับเสด็จพระอิศวร (หรือพระศิวะ) ที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลกในวันขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ คือในเดือนอ้าย ขึ้น 7 ค่ำ และจะประทับอยู่ในมณฑลพิธีบริเวณหอพระอิศวรจนกระทั่ง เดือนอ้ายแรมค่ำ จึงเสด็จกลับ (รวมเวลาที่ประทับ 10 ราตรี)


คําว่า นางดาน หรือ นางกระดาน หมายถึง แผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์ จํานวน 3 องค์ 

  • แผ่นแรก คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ 
  • แผ่นที่สอง คือ แม่พระธรณี 
  • แผ่นที่สาม คือ พระแม่คงคา 

เพื่อใช้ในขบวนแห่สมมุติแทนเทพทั้ง 4 ที่จะมารอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยม มนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า เชื่อกันว่าการเสด็จมาเยี่ยมมนุษย์ โลกเพื่อประสาทพรให้เกิดความสงบสุขให้เกิดน้ําท่าอุดมสมบูรณ์และช่วยคุ้มครองมนุษย์โลกให้ปลอดภัย ซึ่งตามความเชื่อการเสด็จลงมาของพระอิศวร จะต้องเสด็จลงมาในเดือนอ้าย ซึ่งเป็นปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดูในพิธีตรียัมปวาย ประเพณีแห่นางดานเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะถือกําเนิดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันประเพณีแห่นางดานได้มารวมไว้กับประเพณีสงกรานต์ โดยจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี

ประเพณีแห่นางดาน เมืองคอน หนึ่งเดียวในไทย

ตำนานแห่นางดาน

นางดานแผ่นที่ 1 นามว่าพระอาทิตย์พระจันทร์

ตำนาน นพเคราะห์โหราศาสตร์กล่าวว่าเทพบริวารพระอาทิตย์นี้ พระอิศวรทรงสร้างขึ้นด้วยการเอาราชสีห์ 6 ตัว มาป่นเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าสีแดง ประพรมด้วยน้ำอมฤตไม่ช้าจึงเกิดเป็นเทพบุตรร่างเล็กขึ้นนามว่าพระอาทิตย์หรือพระสุริยา มีผิวกายสีแดงรัศมีกายเรืองโรจน์รอบตัว เสื้อทรงสีเหลืองอ่อนมีสี่กร กรหนึ่งใช้ห้ามอุปัทวันตราย กรสองไว้ประทานพรและอีกสองกรไว้ถือดอกบัว พระอาทิตย์เป็นเทพผู้สร้างกลางวัน เป็นผู้ให้แสงสว่างและความร้อนแก่โลกมนุษย์และดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ด้วยการชักรถม้าเคลื่อนไปในจักรวาลไม่มีวันหยุด กำลังแสงของพระอาทิตย์มีพลังดูดน้ำได้ถึง 1000 ส่วน ดูดฝน 400 ส่วน ดูดหิมะ 300 ส่วน ดูดลมอากาศ 300 ส่วน ให้พลังงานแก่สรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง ก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งดินฟ้าอากาศเป็นฤดูกาล ถือเป็นเทพผู้มีคุณูปการต่อการอยู่รอดของมนุษย์สัตว์และพืชพันธุ์ 

พระจันทร์ตำนานนพเคราะห์โหราศาสตร์กล่าวว่า เทพบริวารองค์นี้พระอิศวรทรงสร้างขึ้นจากนางฟ้า 15 นาง โดยร่ายพระเวทย์ให้นางฟ้าทั้ง 15 นางนั้นป่นเป็นผงละเอียดลงแล้วห่อด้วยผ้าสีนวล ประพรมด้วยน้ำอมฤตไม่ช้าจึงเกิดเป็นเทพบุตรผิวกายสีนวล ร่างเล็กสะโอดสะอง ประทับในวิมานสีแก้วมุกดา ทรงม้าสีขาวดอกมะลิเป็นพาหนะ พระจันทร์เป็นเทพผู้สร้างกลางคืนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และงดงามอ่อนละมุน เพราะเป็นเทพผู้สร้างกลางคืน จึงมีอีกสมญาหนึ่งว่า 'รัชนีกร' เป็นเทพผู้อำนวยให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พักผ่อนและผสมพันธุ์สืบมาจนปัจจุบัน

นางดานแผ่นที่ 2 นามว่าพระธรณี

เทพบริวารองค์นี้มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่งและพยุงสิ่งทั้งหลายที่ พระอิศวรทรงสร้างไว้ในจักรวาลให้ดำรงอยู่เป็นเสมือนพ่อแม่ของเทพทั้งหลาย เป็นผู้รับและสั่งสมสิ่งดีมีค่าอาหารและความมั่งคั่ง ยอมสละแม้เกียรติและอำนาจ จึงได้ชื่อว่า 'วสุธา' มีผิวกายสีขาวนวล พระเกศายาวเหยียดตรงเป็นโมฬีสามารถซับอุทกธาราหรือสายน้ำไว้มหาศาล เป็นเทพผู้เก็บสะสมคุณความดีและความมีคุณธรรมทั้งปวง เป็นหูเป็นตาแทนผู้อื่นได้ จึงมีสำนวนที่ว่า ใครไม่รู้ แต่ฟ้าดินรู้ เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลกและร้องขอให้พระอิศวรไปรักษาโลก พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกไม่แข็งแรง ถ้าหยั่งลงมาทั้งสองพระบาทก็เกรงว่าโลกจะแตก จึงหยั่งพระบาทลงมาเพียงข้างเดียว ในการนี้มีพระธรณีได้เข้ามาทำหน้าที่รอรับพระบาทพระอิศวรเอาไว้ 

พุทธประวัติได้กล่าวถึงเกียรติคุณพระธรณีอยู่ตอนหนึ่ง คือวันเพ็ญเดือนหกก่อนพุทธกาลพระยาวัตตีมารยกพลมาขัดขวางมิให้พระสิทธัตถะ ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณแต่การณ์ไม่สำเร็จดังใจหวังเพราะพระสิทธัตถะไม่ยอมละ โพธิบัลลังก์จนกว่าจะตรัสรู้ พญามารโต้เถียงทวงสิทธิโพธิบัลลังก์ แต่พระสิทธัตถะก็ไม่หวั่นพระทัย ยังคงวางพระองค์สงบนิ่งอยู่ พญามารจึงบรรหารให้รี้พลสกลไกรย่ำยีบีฑาพระสิทธัตถะโดยพลัน พฤติการณ์ทั้งปวงนี้พระธรณีได้สดับอยู่เห็นจริงว่าพระสิทธัตถะมีเจตนารมณ์กระทำเพื่อมวลมนุษย์โดยแท้ จึงปรากฏกายขึ้นข้างบัลลังก์ใต้ร่มโพธิ์ที่พระสิทธัตถะประทับแล้วบิดน้ำในโมฬีแห่งตน กระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศาแห่งห้วงมหาสมุทร ในที่สุดเสนามารก็ตายพญามารก็พ่ายหนี พระสิทธัตถะจึงสำเร็จอนุตรสัมโพธิญาณในเพลารุ่งสางแห่งราตรีนั้น

นางดานแผ่นที่ 3 นามว่าพระคงคา

เทพบริวารองค์นี้เป็นพระธิดาองค์แรกของพระหิมวัตกับนางเมนา พระสวามีของพระคงคาคือพระอิศวร ฉะนั้นพระคงคากับพระอุมานอกจากจะร่วมพระชนกชนนีกันแล้ว ยังมีพระสวามีองค์เดียวกันด้วย มีผิวกายสีม่วงแก้มน้ำตาล พระคงคาแต่เดิมอยู่บนสวรรค์ เพิ่งจะลงมาสู่โลกมนุษย์ในครั้งที่ท้าวภคีรถสำเร็จการพิธีอัญเชิญให้ลงมา ชำระอัฐิโอรสท้าวสัตระที่ถูกพระกบิลบันดาลด้วยฤทธิ์เป็นเพลิงไหม้ตาย จึงจำเป็นจะต้องใช้น้ำจากพระคงคาบนสวรรค์มาชำระอัฐิจึงจะหมดบาปไปบังเกิดใน สวรรค์ได้อีก พระคงคาจึงบันดาลน้ำให้ไหลไปทางสระวินทุ แยกออกเป็นเจ็ดสาย ไหลไปทางตะวันออกสามสายกลายเป็นแม่น้ำ ชื่อว่าแม่น้ำนลินี ทลาทินีและปปาพนี ไหลไปทางตะวันตกกลายเป็นแม่น้ำอีกสามสายคือแม่น้ำจักษุ สีดา และสินธุ ส่วนอีกสายหนึ่งไหลตามรอยรถท้าวภคีรถ เรียกกันว่า 'พระคงคามหานที' แม่น้ำสายนี้นับเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้ล้างบาปได้ พิธีการแห่นางดานของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเริ่มจากการที่พระราชครู ประกอบพิธีอัญเชิญเทพนางดานทั้งสามขึ้นประดิษฐานบนเสลี่ยง (สามเสลี่ยง) ไปตั้งขบวนที่จุดนัดหมายซึ่งสะดวกแก่การชุมนุม ส่วนมากนิยมตั้งแต่ขบวนกันที่ฐานพระสยม (บริเวณตลาดท่าชีปัจจุบัน)

ประเพณีแห่นางดาน เมืองคอน หนึ่งเดียวในไทย

พิธีแห่นางดาน จะเริ่มขึ้นในช่วงเย็น วันที่ 15 เม.ย. ตั้งขบวนตั้งแต่เวลา 18.00 น. และจะมีการแสดงแสง สี เสียง แบบจัดเต็ม หน้าหอพระอิศวร ถนนราชดำเนิน เริ่มตั้งแต่ 19.00 เป็นต้นไป