วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไรกับชาวพุทธ

02 มีนาคม 2566

วันมาฆบูชา 6 มี.ค. 66 พุทธศาสนิกชนควรรู้ วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไรกับชาวพุทธ พร้อมประวัติวันมาฆบูชา วันที่พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

วันมาฆบูชา 6 มี.ค. 66 วันนี้ทีมข่าว Thainews Online ขออาสาพาชาวพุทธไปทำความรู้จัก วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไรกับชาวพุทธ และกิจกรรมที่ชาวพุทธควรปฏิบัติเพื่อเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง เพื่อให้ศาสนาพุทธคงอยู่สืบไป

วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไรกับชาวพุทธ

วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไรกับชาวพุทธ

วันมาฆบูชา ในปีนี้ตรงกับ วันจันทร์ ที่ 6 มีนาคม 2566 มีความสำคัญอย่างไร วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระภิกษุ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประชาชนชาวไทย และเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย

ความสำคัญวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์

ผู้ได้อภิญญา 6 และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส

วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไรกับชาวพุทธ

ประวัติวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน 3 เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่พระภิกษุจำนวน 1,250 รูป 

"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน 3 มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือนแปดสองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา

ความเป็นมาวันมาฆบูชา

ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน 3 ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ เรียกว่าว่า วันจาตุรงคสันนิบาต

คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ

"จาตุร" แปลว่า 4
"องค์" แปลว่า ส่วน
"สันนิบาต" แปลว่า ประชุม
ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

  1. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
  2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
  3. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
  4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ

การปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันมาฆบูชา คือ 

  • ตอนเช้า ควรไปทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร 
  • ตอนบ่าย ฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา 
  • ตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปเวียนเทียน 3 รอบ ที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

หลักการ 3 คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติดังนี้

1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)

2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตามกุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)

3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไรกับชาวพุทธ

ขอบคุณข้อมูลที่มาจาก : กระทรวงวัฒนธรรม , กรมศาสนา