หมอรามาฯ เปรียบเทียบความต่าง ประสิทธิภาพ "วัคซีนโควิด-19"

21 พฤษภาคม 2564

นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก Suppachok NeungPeu Kirdlarp เผยแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "วัคซีนโควิด-19" จนมีผู้คนเข้ามาแชร์กันเป็นจำนวนมาก

คุณหมอศุภโชค มองว่าประเทศไทยควรจะจัดหา วัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมทั้ง 3 ชนิดเพื่อประโยชน์ของผู้ฉีด โดยเขียนข้อมูลลงในเฟซบุ๊กที่น่าจะเป็นประโยชน์ระบุว่า..

จุดยืนของผมในเรื่อง Vaccine (Declare conflict of interest: ผมเขียนโดยไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ไม่อยู่ฝ่ายไหน อยู่ฝ่ายทางวิชาการและประชาชน และเขียนด้วยข้อเท็จจริงตามที่มีปรากฎ และผมสนับสนุนให้ทุกคนรับวัคซีนถ้าสามารถทำได้และไม่มีข้อห้ามใดๆครับ)

 

 

1.) Vaccine: ต้องมีหลากหลายชนิด ( platform )

เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ (เดิมมีแค่ AstraZeneca กับ SinoVac)
- mRNA based vaccine เช่น Pfizer/Moderna
- viral vector based vaccine เช่น AstraZeneca, J&J, Sputnik V 
- inactivated vaccine: Sinopharm/SinoVac
*ควรมีอย่างน้อย platform ละชนิดถ้าทำได้*

2.) เหตุที่ต้องมีหลาย platform นั้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะของคนไข้และแต่ละจุดประสงค์ เช่น

- Pfizer ใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้
- AstraZeneca มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไป 
- inactivated vaccine (SinoVac/Sinofarm) ปลอดภัยในคนไข้ที่เป็น severe immunocompromise host
เป็นต้น

3.) Vaccine แต่ละชนิด มีประสิทธิภาพ (vaccine efficacy) ไม่เท่ากัน

- Pfizer/Moderna : กันตาย กันติด (น่าจะ)กันหมู่ ได้ดีที่สุด
- AstraZeneca: กันตาย กันติด (น่าจะ) กันหมู่ได้รองลงมา
- SinoVac: กันตาย-กันหนัก พอจะกันติดได้บ้าง (ไม่สู้2ตัวแรก) กันหมู่ยังไม่รู้ว่าได้หรือไม่ ต้องติดตามข้อมูลต่อไป

*ประสิทธิภาพวัคซีน ขึ้นกับหลายๆปัจจัย เช่น การทดสอบกับสายพันธุ์ที่ต่างกัน ประชากรที่เข้าศึกษา นโยบายสาธารณสุขที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการวัดผลว่าจะวัด outcome อะไร เป็นต้น*

4.) จากการศึกษาล่าสุด พบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไปตามกับปริมาณของ neutralizing antibody ที่สร้างได้  (ดังรูป) 

หมอรามาฯ เปรียบเทียบความต่าง ประสิทธิภาพ \"วัคซีนโควิด-19\"
จากรูป จะพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย
 mRNA (Pfizer/Moderna) -> ตามด้วย Viral Vector (Sputnik-V, J&J, AstraZeneca) -> และจบที่ inactivated vaccine (SinoVac) ที่น้อยที่สุด
(ref: Nat Med (2021). doi.org/10.1038/s41591-021-01377-8)

** หมายเหตุ **
1. แต่ละการศึกษามีสายพันธุ์ที่ระบาดไม่เหมือนกันในแต่ละการศึกษา
2. ไม่มีการดูเรื่องของ cellular immunity ในแต่ละการศึกษาก่อนหน้านี้

5.) เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้น เป็น”สิทธิ” ส่วนบุคคล ไม่ใช่ “หน้าที่” บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกฉีดหรือไม่ฉีด ทุกคนควรมีสิทธิจะเลือกสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดของแต่ละคน

6.) จากการสอบถามคนรอบข้าง (เพื่อน เพื่อนแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ คนไข้ทั่วไปที่ดูแล ประชาชนทั่วไป) 
จะได้คำตอบที่หลากหลายว่า

=> จะฉีดเลยตอนนี้(เท่าที่มี)
- เพราะ” กันตาย-กันหนัก”ไว้ก่อน (แล้วถ้ามีตัวในใจมาค่อยฉีดกระตุ้น)
- เพราะทำงานด้านหน้า เอาไว้ “กันหนัก-กันตาย” ก่อน
- ถ้ารอตัวที่อยาก ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ กลัวติดไปก่อน
- “กำตดดีกว่ากำขี้”

=> จะฉีดเลยแน่ๆ ถ้าได้ Pfizer/Moderna/Astra แต่ขอไม่เอา SinoVac 
- ไม่มั่นใจประสิทธิภาพ sinoVac
- กลัวผลข้างเคียงของ SinoVac (ชา อัมพฤกษ์)
- กลัวฉีดแล้วตุย
- อยากได้วัคซีนที่ “กันตาย” และ “กันติด” ด้วย (SinoVac ได้แต่”กันตาย-กันหนัก” แต่”กันติด”ไม่ดีเท่ายีห้ออื่น) ถ้ายังไม่มาจะรอของที่ต้องการเพื่อฉีด เพราะมั่นใจใน platform อื่นที่มีข้อมูลประสิทธิภาพและข้อมูลผลข้างเคียงที่ชัดเจน

=> ไม่ฉีดแน่ๆ 
- เพราะกลัวผลข้างเคียงวัคซีน
- ไม่มั่นใจประสิทธิภาพวัคซีน
- คิดว่าน่าจะป้องกันตัวเองได้
- คิดว่าตัวเองเสี่ยงน้อยในการรับเชื้อเลยไม่จำเป็นต้องฉีด
- antiVaccine อยู่แล้ว

=> ลังเลไม่รู้ว่าจะฉีดดีหรือไม่ฉีดดี **(คนส่วนนี้เยอะมาก)** นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึก “สับสน” งงกับข้อมูลที่พูดเปลี่ยนไปมารายวัน ทั้งเรื่องการได้วัคซีน การมาของวัคซีน การกระจายวัคซีน ระบบการนัด/รับวัคซีนที่ดูงงๆ และทำให้คนรู้สึก “ไม่มั่นใจ” “ไม่เชื่อมั่น” “โกรธ” และ “ผิดหวัง” ไม่รู้ว่าจะฟังใครดี เชื่อใครดี นับเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดนั่นคือการสื่อสารในวงกว้างกับทุกกลุ่มประชากร

7.) สิ่งสำคัญที่เรา(ในฐานะแพทย์) ที่จะทำได้ในการสื่อสารเรื่องวัคซีน

- สื่อสารด้วย “ความจริง” “ข้อมูลที่เป็นจริง”
- พูดโดยไม่อวยหรือด้อยค่าวัคซีนเกินความจริง บอกข้อดีข้อด้อยตามความจริง
- หากมีคำถามอะไร เราต้องตอบจนคนหายกังวล หายสงสัย 
- อะไรไม่รู้ก็ต้องบอกไม่รู้ แล้วให้ข้อมูลเมื่อเรามีข้อมูลทางการแพทย์อัพเดตมากขึ้น
- การสื่อสาร ต้องสื่อสารด้วยความรู้สึก “จริงใจ” และมีเมตตา-“empathy” เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่ามองแต่มุมมองของหมออย่างเราเอง ให้มองในมุมคนอื่นด้วย
- ** เราไม่ควรมีทัศนคติไปในเชิงดูถูกหรือ bully คนที่เลือกหรือคิดไม่เหมือนเรา เช่น คนที่เลือกจะฉีด sinoVac ก็ไม่มีสิทธิไปว่าคนที่ไม่ฉีด sinoVac ว่าไม่รับผิดชอบสังคม , หรือคนที่จะรอ Pfizer/Moderna/Astra ก็ไม่ควรไปว่าคนที่เค้าเลือกฉีด SinoVac ก่อนว่าทำไมถึงเลือกแต่ของคุณภาพต่ำไป (เพราะอย่างที่แจ้งไว้ แต่ละคนมีเหตุผล และความเสี่ยง ความจำเป็นที่ต้องรีบได้วัคซีนมากน้อยไม่เหมือนกัน เราต้องเคารพการตัดสินใจของแต่ละคนหลังได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอแล้ว)
- อย่าเอาการเมืองมาปนกับในเรื่องวัคซีน เพราะนี่คือความเป็นความตายของคน ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต้องไม่เอามาปนกันครับ

สุดท้าย สำหรับผม “วัคซีนที่ดี คือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ และสามารถกระจายการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากพอ” ขอให้ทุกคนผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ด้วยกันนะครับ

หมอรามาฯ เปรียบเทียบความต่าง ประสิทธิภาพ \"วัคซีนโควิด-19\"

ที่มา Suppachok NeungPeu Kirdlarp