เกษตรกรผวา วัว50ตัวป่วยโรคประหลาด มีตุ่มนูนทั้งตัว น้ำลายยืด ไม่กินอาหาร

07 พฤษภาคม 2564

ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร ออกโรงชี้เเจง หลังหนุ่มใหญ่มุกดาหาร ผวาหนัก วัวที่เลี้ยงไว้กว่า50ตัวเป็นโรคประหลาด คล้ายโรคผิวหนัง มีตุ่มนูนทั่วทั้งลำตัว และน้ำลายยืดเป็นฟอง ขาทั้ง 4 ข้างอ่อนแรง ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ

   7พ.ค.64 ที่จังหวัดมุกดาหาร เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ที่บ้านสามขา ต.คำป่าหลาย อ.เมือง ได้พบว่า วัวป่วยเป็นโรคประหลาดจำนวนมาก  โดยลักษณะอาการป่วยคล้ายเป็นโรคผิวหนัง มีตุ่มนูนทั่วทั้งลำตัว และน้ำลายยืดเป็นฟอง ขาทั้ง 4 ข้างอ่อนแรง ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ ซึ่งในตอนนี้ที่หมู่บ้านมีวัวที่เป็นโรคนี้รวมแล้วประมาณ 50 ตัว พร้อมวิงวอนปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร หรือคนที่มีความรู้เข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำเกษตรกรในการป้องกันโรคดังกล่าวด้วย

 

เกษตรกรผวา วัว50ตัวป่วยโรคประหลาด มีตุ่มนูนทั้งตัว น้ำลายยืด ไม่กินอาหาร
โดย นายเขียน พาลึก อายุ 60 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว บ้านสามขา หมู่ 17 ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร เล่าว่า ตนเลี้ยงวัวทั้งหมด 10 ตัว เป็นพันธุ์ลูกผสม และป่วยเป็นโรคลักษณะเดียวกันนี้ แต่ยังไม่มีตัวไหนตาย มีอาการหนักอยู่ 1 ตัว ซึ่งอาการแรกๆที่ตัวของวัวจะขึ้นเป็นตุ่มเล็กน้อยและจากนั้นก็จะลุกลามไปทั่วทั้งลำตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งตนไม่เคยพบเจอโรคแบบนี้มาก่อน คิดว่ามันคงเป็นตุ่มธรรมดาๆไม่นานก็คงหายเป็นปกติ

เกษตรกรผวา วัว50ตัวป่วยโรคประหลาด มีตุ่มนูนทั้งตัว น้ำลายยืด ไม่กินอาหาร

แต่ต่อมามีการระบาดลุกลามไปยังวัวตัวอื่นๆ จึงรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก ไม่รู้จะช่วยเหลือวัวได้อย่างไร โดยวัวที่เป็นโรคนี้นั้นมักจะเป็นวัวที่มีอายุประมาณ 5 เดือน ถึง 1 ปี ส่วนวัวที่อายุมากกว่านั้นเป็นแล้วก็หาย ถ้าเป็นวัวอายุไม่เยอะจะตาย
 

  ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปที่ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร ได้ความว่า โรคนี้มีชื่อเรียกว่า "โรคลัมปี สกิน" มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุ มีลักษณะอาการที่สามารถสังเกตได้คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย อัตราการตายน้อยมาก

เกษตรกรผวา วัว50ตัวป่วยโรคประหลาด มีตุ่มนูนทั้งตัว น้ำลายยืด ไม่กินอาหาร

โรคนี้มีแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ แมลงวัน ริ้น เหลือบ ไร ยุง เป็นพาหะที่สำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรงผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรก โดยจะพบเชื้อไวรัสในเลือดสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเฉลี่ยพบได้ประมาณ 7-21 วัน หลังติดเชื้อ


ขอบคุณ
อนุศักดิ์-เสาวภา แสนวิเศษ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.มุกดาหาร

อ่านข่าวต้นฉบับ