คนงานกะดึกเสี่ยงติดเชื้อ โควิด-19 สูงกว่ากลางวัน จากผลวิจัยของออสเตรเลีย

20 เมษายน 2564

งานวิจัยที่นำโดยประเทศออสเตรเลียพบว่า คนงานกะกลางคืนมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มากกว่าคนงานกะกลางวัน เป็นปริมาณสูงถึงเกือบ 2 เท่า

ทีมนักวิจัยระหว่างประเทศซึ่งนำโดยยาคูต ฟาติมา (Yaqoot Fatima) จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก (James Cook University) ในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลียเชื่อว่าคนงานกะกลางคืนมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส โควิด-19 มากกว่ากะกลางวันเกือบ 2 เท่า
 

ผลการวิจัยของพวกเขาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเจอร์นัลออฟสลีพรีเสิร์ช (Journal of Sleep Research) อ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์ของผู้เข้าร่วมโครงการไบโอแบงค์ หรือธนาคารทรัพยากรชีวภาพ ของสหราชอาณาจักร จำนวน 500,000 คน ซึ่งเป็นโครงการที่เก็บรวบรวมข้อมูลทางการแพทย์และพันธุกรรมจากบรรดาอาสาสมัคร

ฟาติมา ให้สัมภาษณ์กับบริสเบนไทม์ส หนังสือพิมพ์ออนไลน์ในออสเตรเลียว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำงานกะกลางคืนอาจรบกวนนาฬิกาชีวภาพตามธรรมชาติของผู้คน ทำให้พวกเขามีโอกาสติดเชื้อได้

“นักวิจัยคนอื่นๆ ได้เสนอทฤษฎีที่ว่าการรบกวนนาฬิกาชีวภาพ อันเป็นผลจากการทำงานกะกลางคืนนั้น อาจเปิดช่องทางให้คนบางคนเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสฯ ได้มากขึ้น” เธอกล่าว “สิ่งนี้อาจส่งผลให้ระดับเมลาโทนินลดลงและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันย่ำแย่ลง”

ฟาติมายังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวด้วยว่า ปัจจุบันในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ กำลังดำเนินการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเธอคาดว่าพวกเขาจะพบผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน “เมื่องานวิจัยของพวกเขาเป็นที่ชัดเจนแล้ว เราหวังว่าจะมันจะช่วยผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดลำดับกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อน” เธอกล่าวทิ้งท้าย