เปิดตำราอย่างละเอียด "ผัวเมียไม่รักดี" ฟ้องหย่าควรเรียกเงินมากแค่ไหน?

20 กุมภาพันธ์ 2564

เมื่อชีวิตคู่ไม่เป็นดั่งฝันที่วาดไว้ในงานแต่ง เปิดตำราอย่างละเอียด เมื่อ"ผัวเมียไม่รักดี" ฟ้องหย่าควรเรียกเงินมากแค่ไหน?

เมื่อชีวิตคู่ไม่เป็นดั่งฝันที่วาดไว้ในงานแต่ง สามีแอบนอกใจไปมีผู้หญิงคนอื่น ภรรยาหลวงจึงไม่อยากนอนกอดทะเบียนสมรสอีกต่อไป ตัดสินใจฟ้องหย่า พร้อมเรียกเงินค่าช้ำใจสักก้อนมานอนกอดแทน และต้องเป็นเงินจำนวนที่มากพอสำหรับดูแลลูกให้เติบโตขึ้นมาอย่างดีด้วย แล้วเงินจำนวนที่ว่านั้นควรสักเท่าไหร่ดี? มาลองเปิดกฎหมายวิเคราะห์กันดู

 

อันดับแรกต้องรู้ก่อนว่าในฐานะ "ภรรยาหลวง" คุณมีสิทธิ์ฟ้องร้องใครได้บ้าง และเรียกร้องอะไรจากเขาเหล่านั้นได้บ้าง

1. ฟ้อง สามี เพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนถึงช่วงบรรลุนิติภาวะ

2. ฟ้อง สามี เพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูคุณ ในกรณีที่คุณไม่มีรายได้หรือไม่มีงานทำ

3. ฟ้อง ภรรยาน้อย ในฐานเป็นชู้ เพื่อเรียกเงินค่าทดแทน

4. ร้องเรียนไปยังที่ทำงานของสามี และภรรยาน้อย ซึ่งอาจได้รับโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก ทั้งนี้ ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าถ้าสามีถูกไล่ออก แล้วจะมีรายได้มาเลี้ยงดูคุณและลูกหรือไม่

กรณีการฟ้องร้องภรรยาน้อยนั้น สิ่งสำคัญคือภรรยาหลวงต้องมี "ทะเบียนสมรส" ที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นเครื่องยืนยัน ประกอบกับหลักฐานอื่นๆ เช่น 

1. ชื่อจริงนามสกุลจริงของภรรยาน้อย 

2. ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ หรือการส่งข้อความแชทหากันของสามีและภรรยาน้อย

3. รายการเคลื่อนไหวทางบัญชี เพื่อใช้ยืนยันว่าสามีของคุณมีการโอนเงินอุปการะเลี้ยงดูภรรยาน้อย

4. ภาพถ่าย หรือภาพกล้องวงจรปิด ที่แสดงให้เห็นว่าภรรยาน้อยอยู่กับสามีของคุณ

5. หลักฐานหรือพยานที่แสดงให้เห็นว่า ภรรยาน้อยรู้ดีว่าฝ่ายชายมีภรรยาอยู่แล้ว แต่ก็ยังเข้ามาข้องเกี่ยวมีความสัมพันธ์กัน

6. หลักฐานการเข้าพักตามสถานที่ต่างๆ ด้วยกัน  เช่น การเช็คอินตามโรงแรมหรือที่เที่ยว หรือหลักฐานทางบัตรเครดิต

7. หลักฐานการซื้อทรัพย์สินให้แก่กัน เช่น บ้าน, รถ, คอนโด, เสื้อผ้า, กระเป๋าแบรนด์เนม เป็นต้น

8. สูติบัตรหรือทะเบียนบ้านของเด็กที่เกิดจากสามีของคุณและภรรยาน้อย

 

เมื่อรวบรวมหลักฐานทั้งหมดได้แล้ว สามารถดำเนินการยื่นฟ้องได้ทันที โดยต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่ที่รู้ว่าสามีแอบมีชู้ ถ้าปล่อยปละละเลยเกิน 1 ปี จะถือว่าไม่ติดใจในการที่จะดำเนินคดี 

เมื่อยื่นฟ้องแล้วจะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย หากว่าตกลงกันไม่ได้ ก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ในการเรียกค่าเสียหาย หรือที่เรียกว่าค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจำนวนเงินที่จะฟ้องนั้นขึ้นอยู่กับฝั่งภรรยาหลวง ตามกฎหมายแล้วไม่ได้ระบุตายตัว แต่จะดูกันตามความเหมาะสม หน้าตาทางสังคม หรือหน้าที่การงาน 

โดยปกติคนธรรมดา อาจได้ค่าเสียหายประมาณ 200,000-500,000 บาท แต่หากว่าเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของสังคม มักจะเรียกค่าเสียหายได้สูงกันเป็นหลักล้าน แต่สุดท้ายจะได้เงินตามที่เรียกไปหรือเปล่านั้น ก็ต้องแล้วแต่ดุลพินิจของศาล

คำถามต่อมาคือ หากภรรยาหลวงฟ้องชนะคดีแล้ว เงินที่ได้จะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง? 

โดยทั่วไปแล้วจะได้เงินอยู่ที่หลักแสนบาท เหมือนเป็นการทวงศักดิ์ศรีคืน เพราะเงินที่ภรรยาน้อยเคยใช้จ่ายอยู่ก็เป็นเงินของสามีคุณ ซึ่งควรจะเป็นเงินที่ใช้เลี้ยงดูภรรยาหลวงและลูก แต่ในเมื่อสามีนำเงินส่วนนั้นไปเลี้ยงดูคนอื่น ก็เป็นสิทธิ์ของภรรยาหลวงที่จะเรียกคืนมา ทั้งค่าเลี้ยงดู และค่ากินอยู่ ซึ่งถ้ามีลูกก็จะได้ค่าเทอม, ค่าเรียนพิเศษ เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี หากเมียน้อยไม่ได้ทำมาหากินอะไร ไม่มีบ้านหรือรถให้ยึด การฟ้องร้องก็อาจไม่ได้ทรัพย์สินอะไรกลับคืนมา แต่จะได้ประกาศให้โลกรู้ว่าผู้หญิงคนนี้คือ "เมียน้อย" เมื่อมีหมายศาลไปติดหน้าบ้าน 

แต่สุดท้ายแล้ว ต้องย้อนกลับมาถามตัวคุณเอง ว่าพร้อมที่จะเอาเรื่องในบ้านไปให้คนอื่นได้รับรู้หรือไม่ เพราะหากว่าไม่พร้อม หรือยังห่วงความรู้สึกคนในครอบครัว ก็อาจจะต้องตกลงหย่าเงียบๆ พูดคุยเรื่องค่าเลี้ยงดูกันเอง ทุกอย่างล้วนเป็นสิทธิ์ที่คุณจะกระทำได้

 

CR.CH3