ศึกสายเลือด ระหว่าง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

17 พฤศจิกายน 2566

ศึกชิงราชบัลลังก์การแย่งชิงอำนาจระหว่างอากับหลาน ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ไทย ศึกสายเลือด ระหว่าง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

ศึกชิงราชบัลลังก์ หลังจากดูละครเรื่อง พรหมลิขิต ที่ออกอากาศทางช่อง 3 แล้ว เราสรุปเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อ้างอิงจากละครมาหลายช่วง และตอนนี้มาถึง ตัวละครสำคัญอีกหนึ่งคน ที่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ อ้วน  เด่นคุณ งามเนตร ที่รับบทแสดงเป็น เจ้าฟ้าพร หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เกิด ศึกสายเลือด ระหว่าง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง จริงหรือไม่ วันนี้ ปาฏิหาริย์ ช่วง เจนจิราหามาเล่า จะสรุปให้ฟังนะคะ

ศึกสายเลือด ระหว่าง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

ศึกสายเลือด ระหว่าง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปมเหตุสงครามครั้งนี้เริ่มจากเจ้าฟ้าเพรชและเจ้าฟ้าพรทั้งสองพระองค์เป็นพี่น้องที่ทรงสนิทกันมาก อย่างที่เราเห็นในละครเรื่องพรหมลิขิต เจ้าฟ้าพรยอมมอบราชสมบัติให้กับพี่ชายก็คือ เจ้าฟ้าเพชร ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าเสือ และยังเคยต้องพระราชอาญาบิดาเกือบถึงแก่ชีวิตมาด้วยกันทั้งสองพระองค์แล้ว 

หลังจากสมเด็จพระเจ้าเสือสวรรคตแล้ว เจ้าฟ้าเพชรจึงขึ้นครองราชสมบัติ มีพระนามว่า สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ ขุนหลวงท้ายสระนั่นเอง ส่วนเจ้าฟ้าพร ถูกแต่งตั้งให้เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เรียกกันเป็นสามัญว่าวังหน้า เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์สยามทรงสถาปนาขึ้นสำหรับพระมหาอุปราช และมีฐานะเป็นองค์รัชทายาทผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชสมบัติต่อไป 

ช่วงต้นรัชกาลทั้งสองพระองค์ทรงรักกันและสนิทสนมกันดี แต่หากว่าช่วงปลายรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ความสัมผัสของทั้งสองพระองค์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ปรารถนาที่จะมอบราชสมบัติให้กับพระโอรสมากกว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงมีพระราชโอรสถึง 3 พระองค์ เจ้าฟ้านเรนทร เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าชายปรเมศร์ 

ศึกสายเลือด ระหว่าง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

เจ้าฟ้าพร ที่เป็นพระมหาอุปราช ทรงทราบเช่นกันว่า พระเชษฐา ไม่ทรงปรารถนาที่จะมอบราชสมบัติคืนให้กับพระองค์อีกแล้ว แต่ถ้าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มอบราชสมบัติให้กับ เจ้าฟ้านเรนทร ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ พระมหาอุปราชก็ทรงไม่ขัดข้อง เพราะพระองค์ทรงรักพระนัดดาพระองค์นี้เหมือนกับโอรสพระองค์หนึ่งของพระองค์ 

แต่เรื่องราวศึกสายเลือดก็เกิดขึ้น เมื่อ เจ้าฟ้านเรนทร ท่านไม่ปรารถนาที่จะรับราชสมบัติ พระองค์ตระหนักถึงว่า พระปิตุลา หรือ อา พระมหาอุปราช ทรงมีสิทธิ์ที่จะได้รับราชสมบัติในบัลลังก์อยู่แล้ว เมื่อพระองค์มีพระชมพรรษาได้ 20 พรรษา เจ้าฟ้านเรนทร จึงได้ออกผนวช 

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ จึงทรงปรารถนาที่จะมอบราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้าอภัย ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์รองของพระองค์ นี่จึงเป็นปมเหตุให้ พระมหาอุปราช ที่ไม่โปรดพระนัดดาพระองค์นี้ ถ้าพระเจ้าท้ายสระจะมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย พระองค์ก็จะชิงเอาราชสมบัตินั้น อันเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของพระองค์ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่แล้ว

ถึงปี 2276 สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงประชวรจวนจะสวรรคตลง จึงมีการตระเตรียมกำลังที่จะต่อสู่กันโดยเปิดเผยทั้งสองฝ่าย นั่นคือ อากับหลาน เจ้าฟ้าอภัยทรงให้ขุนนางวังหลวงเตรียมกองทัพให้พร้อมและให้ตั้งค่ายเรียงรายไป โดยมี ขุนศรีวังยศ เป็นแม่ทัพ นำกองกำลังส่วนหนึ่งไปเฝ้าทางด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา 

ส่วนฝ่าย พระมหาอุปราช ก็ไม่ทรงน้อยหน้า จัดไพร่พลวังหน้าและขุนนางที่จงรักภักดีสนับสนุนพระองค์เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาด้วยเช่นเดียวกัน โดยกำลังพลของทั้งสองฝ่ายมีจำนวนไล่เลี่ยกัน

สงครามกลางเมืองแห่งกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราช ทรงเห็น เจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าชายปรเมศร์ สองพี่น้องตั้งทัพอย่างเข้มแข็ง พระองค์จึงส่งพลแม่นปืนไปรอบยิง ขุนศรีวังยศ จนถึงแก่ชีวิต และทันทีที่ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงสวรรคต สงครามกลางเมืองก็ได้เริ่มต้นขึ้นทันที 

เจ้าฟ้าอภัย ทรงให้ หลวงไชยบูรณ์ เป็นแม่ทัพหน้านำกำลังทหาร 300 คน ไปทางชีกุน และยกขึ้นไปทางวัดกุฏีเพื่อตีที่มั่นฝ่ายวังหน้า ฝ่ายเจ้าฟ้าพรจึงให้กองทัพออกมารบกับ หลวงไชยบูรณ์ ฝ่ายทหารวังหน้าได้โอกาสเหมาะจึงเข้าโจมตีเป็นเหตุให้ทหารฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยล้มตายเป็นจำนวนมาก หลวงไชยบูรณ์ถูกจับส่งไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) และทรงให้ลงพระอาญาเฆี่ยน 50 ทีแล้วให้จำไว้

ต่อมา พระธนบุรีขออาสา เจ้าฟ้าอภัย เพื่อรบกับฝ่ายวังหน้า เคลื่อนพลเข้าโจมตีวังหน้าจนค่ายทหารวังหน้าแตกทั้ง 3 ค่าย ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) อาสาถวายบังคมลากรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ออกไปรบพร้อมพลทหาร 300 คน ครั้นทัพของขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ไปถึงทัพพระธนบุรีได้เข้าโจมตีต่อเป็นสามารถ กระทั่งทหารฝ่ายพระธนบุรีหนีแตกพ่ายไปเหลือแต่พระธนบุรีอยู่สู้รบต่อ 

ฝ่ายขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ถือดาบเข้าโจมตีฟันถูกคอพระธนบุรีขาดบนหลังม้า จึงได้ตัดศรีษะของพระธนบุรีนำไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ทรงมีพระทัยยินดีนักจึงมีรับสั่งให้จัดพลทหารขึ้นอีกจำนวนมากเพื่อเตรียมเข้าโจมตีพระราชวังหลวง 

ครั้นทหารฝ่ายวังหลวงพ่ายให้กับฝ่ายวังหน้าอยู่หลายครั้ง เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ทรงตกพระทัยกลัว จึงเก็บพระราชทรัพย์ลงเรือพระที่นั่งเดียวกันแล้วเสด็จหนีไปทางป่าโมกในเวลากลางคืน เมื่อเรือแล่นมาถึงบ้านเลน เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์จึงเสด็จหนีไปทางบกหนีไปถึงป่าอ้อป่าพงแขมใกล้บ้านเอกราช นายด้วงมหาดเล็กเสด็จตามทั้งสองพระองค์ได้เที่ยวขอข้าวจากชาวบ้านมาให้ทั้งสองพระองค์เสวยอยู่ 7 วัน 

วันหนึ่งนายด้วงมหาดเล็กได้รับพระราชทานพระธำมรงค์ [แหวน] ให้ไปซื้อข้าว ชาวบ้านเห็นพระธำมรงค์วงนั้นเข้ารู้ว่าเป็นแหวนของเจ้านายจึงไปบอกมูลเหตุแก่ขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) จึงได้ยกพลทหารไปจับนายด้วงมหาดเล็ก และเข้าล้อมป่าพงแขม เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ตกพระทัยกลัวขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ทรงถวายพระแสงดาบ 2 เล่มของพระองค์ ขุนชำนาญ (อู่) เกลี้ยกล่อมและจับทั้งสองพระองค์นำไปถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์จึงถูกประหารชีวิตให้สิ้นพระชนม์ด้วยท่อนจันทร์ตามราชประเพณี

ศึกสายเลือด ระหว่าง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

ขอขอบคุณ : ภาพจากละครเรื่องพรหมลิขิต และข้อมูลจาก วิกิพีเดีย