สธ. แถลงยืนยัน ฉีดวัคซีนสลับชนิดได้ มีความปลอดภัย-ประสิทธิภาพสูง

13 กรกฎาคม 2564

กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการออกแถลงชี้แจงกรณี การฉีดวัคซีนสลับชนิดกัน มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นที่ออกมาแล้วมีการฉีดวัคซีนสลับกันแบบนี้ในประเทศไทย ฉีดสลับไปแล้วมากกว่า 1,200 คน

วันนี้ (13 ก.ค. 64) กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการออกแถลงชี้แจงกรณี การฉีดวัคซีนสลับชนิดกัน มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง โดยอธิบายว่า ในระยะแรกต้องเข้าใจว่าวัคซีนทุกรูปแบบ ทุกผู้ผลิตมีการผลิตจากไวรัสตั้งต้น คือสายพันธุ์อู่ฮั่น ต่อมา ไวรัสมีการพัฒนา กลายพันธุ์อีกหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะพบว่าในระยะหลังประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง

ขณะนี้ มีวัคซีนสองรูปแบบคือวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิตวัคซีนและวัคซีนไวรัสเว็กเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งมีการนำมาใช้ในการผลิตวัคซีน โดยขณะนี้ได้มีการทำการศึกษาการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สองต่างชนิดกันเพื่อดูประสิทธิภาพการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเข็มที่หนึ่งทดลองใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายซิโนแวค ห่างไป 3 - 4 สัปดาห์ ให้วัคซีนชนิดไวรัลเว็กเตอร์ เเอสตราเซเนกา พบร่างกายมีการการสร้างภูมิต้านทานได้สูงเท่าการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม แต่ใช้ระยะเลาสั้นกว่า

ดังนั้น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาในขณะนี้ ข้อเสนอการใช้วัคซีนต่างชนิดกันในเข็มหนึ่งและเข็มสองจึงเป็นความเหมาะสม ณ เวลานี้ ซึ่งในอนาคตหากมีวัคซีนชนิดอื่นที่มีการพัฒนาหรือมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าก็สามารถพิจารณาเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ตามข้อมูลที่มีการทดลอง ควรใช้วัคซีนต่างชนิดกันของเข็มหนึ่งและเข็มสองได้

ในส่วนของเรื่องความปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญ จำเป็นต้องมีการศึกษา ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นที่ออกมาแล้วมีการฉีดวัคซีนสลับกันแบบนี้ในประเทศไทย ฉีดสลับไปแล้วมากกว่า 1,200 คนและฉีดเยอะที่สุดในโรงพยาบาลจุฬา มีการบันทึกอาการข้างเคียงในแอปพลิเคชันหมอพร้อม พบไม่มีใครมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ดังนั้น สามารถยืนยันได้ว่าการใช้วัคซีนสลับชนิดกันมีความปลอดภัย

ส่วนเรื่องของการกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติของไวรัส โคโรนาไวรัสเป็นหนึ่งในไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอจากสายพันตั้งต้นที่แพร่ระบาดแค่หลักสิบ ต่อมา ระบาดระลอกที่ 2 เป็นการแพร่ได้เร็วขึ้น และเปลี่ยนแปลงพัฒนามาจนเป็นสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดได้เร็วมากถึง 4 เท่า และจะเข้ามาครองพื้นที่ เพราะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว