วันที่ 9 ก.ค. นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กรายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก วันที่ 9 ก.ค. 64 เนื้อหาว่า...
ทะลุ 186 ล้านไปแล้ว ตอนนี้ภาพรวมการติดเชื้อกำลังไต่ขึ้น อันเป็นผลจากการแพร่ของสายพันธุ์เดลต้าในหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 457,550 คน รวมแล้วตอนนี้ 186,296,398 คน ตายเพิ่มอีก 8,021 คน ยอดตายรวม 4,025,561 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ บราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย สหราชอาณาจักร และรัสเซีย อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 17,110 คน รวม 34,674,151 คน ตายเพิ่ม 250 คน ยอดเสียชีวิตรวม 622,202 คน อัตราตาย 1.8% อินเดีย ติดเพิ่ม 34,443 คน รวม 30,743,013 คน ตายเพิ่ม 470 คน ยอดเสียชีวิตรวม 405,527 คน อัตราตาย 1.3% บราซิล ติดเพิ่ม 53,749 คน รวม 18,962,786 คน ตายเพิ่มถึง 1,733 คน ยอดเสียชีวิตรวม 530,344 คน อัตราตาย 2.8% ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 4,442 คน ยอดรวม 5,799,107 คน ตายเพิ่ม 25 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,284 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 24,818 คน รวม 5,707,452 คน ตายเพิ่ม 734 คน ยอดเสียชีวิตรวม 140,775 คน อัตราตาย 2.5% คาดว่าอีก 5-6 วันจะแซงฝรั่งเศสขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ได้
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี โบลิเวีย แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพัน เกาหลีใต้เกินพันมาติดกันเป็นวันที่สอง ล่าสุด 1,275 คน สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดมา
ส่วนเมียนมาร์ ทะลุสี่พันคนอย่างรวดเร็ว ระลอกสองที่เป็นอยู่ตอนนี้น่ากลัวมาก แถบยุโรปกำลังเผชิญการระบาดซ้ำ เช่น เนเธอร์แลนด์ ล่าสุดเพิ่มถึง 5,431 คน เป็นขาขึ้นของระลอกที่ 5 แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน คีร์กีซสถาน จอร์เจีย เบลารุส และมองโกเลียที่ติดเพิ่มหลักพัน แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านหยุดไม่อยู่ ติดเพิ่มทะลุสองหมื่นคน เป็นระลอกสี่ชัดเจน เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพื่มต่ำกว่าสิบ
…คาดการณ์ทางสองแพร่งของไทยเรา…
ตอนนี้เรามีการระบาดรุนแรง คุมไม่ได้ และยืดเยื้อมายาวนานหลายเดือนธรรมชาติของโรคระบาดลักษณะแบบนี้ พอปล่อยให้กระจายมากและนาน พื้นที่ต่างๆ จะเปลี่ยนไปเป็นแดนดงโรคระยะยาว หรือหากใช้ภาษาดอกไม้คือกลายเป็นโรคประจำถิ่น (ซึ่งโดยแท้จริงแล้วป้องกันได้ แต่นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ)ความลำบากในการแก้ไขสถานการณ์แบบนี้ของโรคโควิด-19 ในประเทศคือ
หนึ่ง ทางเลือกในการดูแลรักษามีจำกัด และประสิทธิภาพในการรักษาของหยูกยาที่มีนั้นก็ไม่ได้ดีมากนักเมื่อเทียบกับโรคติดเชื้ออื่นหลายโรคที่กินยาฆ่าเชื้อก็หายนอกจากนี้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในระบบการดูแลรักษา ทั้งคน เงิน ของ เตียง ก็กำลังประสบปัญหากับภาวะล้น
สอง อาวุธป้องกันคือวัคซีนที่มีในไทยนั้นมีปริมาณจำกัด และชนิดที่เลือกซื้อมาใช้นั้นก็มีประสิทธิภาพจำกัดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้โอกาสจะได้ประสิทธิภาพรวมในการควบคุมการระบาดก็จะน้อยกว่า แม้จะอ้างว่าลดโอกาสป่วยรุนแรง หรือลดโอกาสเสียชีวิตได้ก็ตาม
สาม ระบบการตรวจคัดกรองโรคมีจำกัดจำเขี่ย ทำได้น้อย ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เกิดคอขวดดังที่เห็นเป็นข่าว ไม่สามารถรองรับความต้องการจำเป็นในการตรวจของประชาชนได้
สี่ ผลกระทบจากนโยบายอื่นที่จะนำความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำเติมเข้ามาในประเทศ ได้แก่ นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเริ่มมาแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ก็จะเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ปัญหาการระบาดทวีความรุนแรงขึ้นจากเดิมได้ เพราะเสี่ยงทั้งการนำเชื้อจากนอกประเทศเข้ามา และเสี่ยงจากการเปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีการพบปะ สังสรรค์ รวมกลุ่มใกล้ชิด บันเทิงกัน อันเป็นปัจจัยที่ครบองค์สำหรับการระบาด ทางสองแพร่งของไทย ที่ทุกคนคงรอการตัดสินใจจากศบค.ในวันนี้คือ จะล็อคดาวน์หรือไม่?
เดาใจกัน…ไม่ว่าจะใช้คำว่าล็อคดาวน์ด้วยความแสลงใจหรือจั๊กจี้หัวใจ หรือจะเลี่ยงไปใช้วาทกรรมสวยหรูอื่นก็ตาม แนวทางน่าจะหนีไม่พ้น 2 แนว
1.ล็อคเฉพาะพื้นที่/จังหวัด/กลุ่มจังหวัด/ภูมิภาค ที่มีการระบาดหนัก
2.ล็อคทั้งประเทศ
จากบทเรียนต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการหยุดการระบาด การล็อคเฉพาะพื้นที่นั้น จะสำเร็จก็ต่อเมื่อเริ่มทำตั้งแต่แรก มีจำนวนเคสไม่มาก และปูพรมตรวจคนในพื้นที่นั้นอย่างเข้มข้น โอกาสสำเร็จก็จะมีมากและใช้เวลาล็อคสั้นเพียงระดับสัปดาห์
แต่หากมีการระบาดหนัก กระจายไปทั่ว และปล่อยไว้ยาวนานหลายเดือน ไม่มีทางที่แนวทางการล็อคเฉพาะพื้นที่ที่ระบาดหนักจะได้ผล ประเทศต่างๆ จึงตัดสินใจล็อคทั้งประเทศ และเร่งการตรวจคัดกรองโรคอย่างเข้มข้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีโอกาสสำเร็จได้ แต่ใช้เวลาล็อคยาวนานระดับเดือนหรือหลายเดือน โดยมีข้อแม้เรื่องระบบการตรวจคัดกรองโรคต้องมีมากเพียงพอและทำได้ต่อเนื่อง และหากมีการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ย่อมมีโอกาสช่วยให้มีโอกาสกดการระบาดในระยะยาวได้ แต่ไม่สามารถหวังผลวัคซีนในการตัดวงจรการระบาดได้ในระยะสั้น
คราวนี้ก็มาถึง…What if…ที่ต้องมีหลายคนในวงคิดในใจ
ไทยแลนเดอร์อย่างฉันจะล็อคเฉพาะพื้นที่ในสถานการณ์ปัจจุบัน จะมีอะไรไหม ฉันจะประคับประคองเศรษฐกิจไปให้ได้ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดเช่นนี้ได้ไหม?
คำตอบคือ หากทำเช่นนั้น สิ่งที่จะต้องเตรียมเผชิญคือ การระบาดซ้ำซากไปเรื่อยๆ ทั่วประเทศครับ และการล็อคพื้นที่นั้นๆ โดยใช้โครงสร้างบริการเดิมที่มีความจำกัดจำเขี่ยด้านการตรวจคัดกรอง และวัคซีนที่มีใช้ตอนนี้ การล็อคจะไม่ได้ผลเท่าใดนัก และต้องใช้เวลายาวนานเป็นเดือนๆ โอกาสที่ประชาชนในพื้นที่จะยืนหยัดสู้ได้ในระยะยาวคงลำบาก หากเลือกทางนี้คงต้องหาทางวางแผนช่วยเหลือกันยาวๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
เอาล่ะ…ไม่ว่าจะออกมาทางใด สิ่งที่อยากเรียนพวกเราทุกคนไว้ให้เตรียมรับมือ ได้แก่
หนึ่ง หากประกาศล็อคเมื่อใด จะมีคนจะอยู่กับที่มากขึ้น ด้วยความชุกของการระบาดที่มากแบบปัจจุบัน จะมีโอกาสเกิดปัญหาการติดเชื้อแพร่เชื้อภายในที่อยู่อาศัยมากขึ้นอย่างมาก ทั้งในบ้าน หมู่บ้าน หอพัก อพาร์ตเมนท์ แฟลต คอนโด รวมถึงชุมชนที่คนอยู่กันอย่างใกล้ชิดแออัด
ดังนั้น ขอให้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และเตรียมเรื่องพื้นที่ในบ้านหรืออื่นๆ เพื่อแยกกักตัวสังเกตอาการเวลาไม่สบาย หมั่นสังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัวหรือที่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน ถามไถ่อาการผิดปกติเป็นประจำ พยายามอยู่กันห่างๆ และหากไม่สบาย ต้องรีบหาทางไปตรวจรักษา การมีเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ไว้ติดต่อปรึกษาทางโทรศัพท์ในพื้นที่ก็จะดี
สอง ล็อคครั้งนี้ไม่ว่าจะแบบใด มีโอกาสสูงที่จะเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิต เศรษฐกิจ สังคม อย่างมาก เพราะมีทั้งคนติดเชื้อคงค้างจำนวนมาก ป่วยรุนแรงจำนวนไม่น้อย รวมถึงคนที่ยังไม่ติดเชื้อแต่ทรัพยากรร่อยหรอไปมากจนไม่น่าจะยืดหยัดสู้เองได้ ระบบรัฐสวัสดิการไม่มีทางเยียวยาได้ทันหรือเพียงพอ จึงมีโอกาสเกิดปัญหาอัตวินิบาตกรรม อาชญากรรม และอื่นๆ ได้สูง
ดังนั้นจึงอยากเรียนขอให้พวกเราทุกคน ใครพอมีกำลัง ก็ช่วยเหลือแบ่งปันคนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ไม่ว่าจะเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ที่พักพิง หรือจ้างงานเล็กๆ น้อยๆ หรือแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่จำเป็นในการดำรงชีวิต โดยไม่ใช้เงินสุดท้ายที่ต้องเน้นย้ำคือ การใส่หน้ากากสำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้าขอให้เรามีแรงกายแรงใจ ร่วมกันสู้ไปด้วยกัน
ด้วยรักและห่วงใย