วันมาฆบูชา ประวัติ และ ความสำคัญของวันมาฆบูชา

09 กุมภาพันธ์ 2565

วันมาฆบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา 2 ประการคือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโอวาทปาฏิโมกข์ และพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร

วันมาฆบูชา 2565 ตรงกับ วันพุธ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เป็น วันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล

ความหมายวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 3 เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่พระภิกษุจำนวน 1,250 รูป

ความสำคัญวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือ ให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส

วันมาฆบูชา ประวัติ และความสำคัญของวันมาฆบูชา

ความหมายของคำว่า มาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า มาฆปุรณมีบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 เหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน 3 ปีนั้นเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 อย่าง เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต มีความหมายดังนี้

จาตุร แปลว่า 4
องค์ แปลว่า ส่วน
สันนิบาต แปลว่า ประชุม

ความสำคัญของ จาตุรงคสันนิบาต ในวันมาฆบูชา

1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งพระสงฆ์เหล่านี้ต่างแยกย้ายไปจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ

2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ทุกรูปโดยได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เรียกว่าวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

3. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย

4. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์

วันมาฆบูชา ประวัติ และความสำคัญของวันมาฆบูชา

ประวัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย

พิธีปฏิบัติ หรือพิธีกรรมวันมาฆบูชาในประเทศไทย เริ่มต้นสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพิธีพระราชกุศลนิมนต์พระสงฆ์วัดบวรนิเวศ และวัดราชประดิษฐ์ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถวันพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้วพระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ 1 เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน 3 ตำลึงและขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง 30 รูป ถือปฏิบัติตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 

ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา เป็นวันกตัญญูแห่งชาติ อีกด้วย

วันมาฆบูชา ประวัติ และความสำคัญของวันมาฆบูชา

หลักการ 3 คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่าให้ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)

2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตามกุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)

3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

วันมาฆบูชา ประวัติ และความสำคัญของวันมาฆบูชา

กิจกรรมวันมาฆบูชาที่ควรปฏิบัติ

เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักต่อความสำคัญของพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ และยังเป็นการช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป

การปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันมาฆบูชา คือ 

1. ตอนเช้า ควรไปทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร 

2. ตอนบ่าย ฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา 

3. ตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปเวียนเทียน 3 รอบ ที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

วันมาฆบูชา ประวัติ และความสำคัญของวันมาฆบูชา

สำหรับปี 2565 เนื่องจาก สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ยังคงรุนแรงไม่หยุด จึงไม่แนะนำให้ไปทำบุญหรือเวียนเทียนที่วัด นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดพิธีกรรมทางศาสนาและเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นๆ ตามรูปแบบวิถีใหม่ New Normal อีกหลากหลายช่องทาง เช่น การเวียนเทียนออนไลน์ 

ขอบคุณข้อมูลที่มาจาก : กระทรวงวัฒนธรรมกรมศาสนาวิกิพีเดีย