เปิดตำนานยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์ ต้นกำเนิด "ท่าเตียน"

13 พฤศจิกายน 2564

ตำนานยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์ หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องเล่าปากต่อปากกันมาบ้างแล้วว่าเป็นเพราะยักษ์ 2 ตนนี้ วันนี้ Thainews ขอพาไปรู้จักเรื่องราวของยักษ์และต้นกำเนิดท่าเตียนคืออะไร พบคำตอบได้ในบทความนี้

ตำนานที่หลายคนคงเคยได้ยินตำนานกำเนิดท่าเตียน ที่เล่าปากต่อปากกันมาว่า บริเวณท่าเตียนอันเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้น เป็นผลจากการต่อสู้ของ "ยักษ์วัดแจ้ง" กับ "ยักษ์วัดโพธิ์" โดยมี "ยักษ์วัดพระแก้ว" เป็นผู้ห้ามทัพ "ยักษ์วัดแจ้ง" มี 2 ตนคือ ยักษ์ด้านเหนือกายสีขาว มีชื่อว่า "สหัสเดชะ" ส่วนยักษ์ด้านใต้กายสีเขียว มีชื่อว่า "ทศกัณฐ์" ยืนเฝ้าที่ประตูซุ้มยอดมงกุฎทางเข้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม

ยักษ์วัดแจ้ง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ยักษ์เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี เป็นความเชื่อของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ โดยเชื่อว่ายักษ์มีหลายระดับขึ้นอยู่กับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูงจะมีวิมานเป็นทอง มีรูปร่างสวยงาม ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมา ยักษ์ชั้นกลางส่วนใหญ่จะเป็นบริวารของยักษ์ชั้นสูง ส่วนยักษ์ชั้นต่ำที่บุญน้อยก็จะมีรูปร่างน่ากลัว ผมหยิกตัวดำผิวหยาบ นิสัยดุร้าย จะเห็นได้ว่าในวัดวาอารามต่างๆ มักจะมียักษ์มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของวัดหรือโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นยักษ์แบกพระเจดีย์ในวัดพระแก้วรูปปั้นยักษ์แบกองค์พระปรางค์ในวัดแจ้ง หรือยักษ์วัดโพธิ์ เป็นต้น

ตำนานกำเนิดท่าเตียน มีว่ายักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ฝั่งตรงข้ามนั้นทั้ง 2 ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งทางฝ่ายยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน จึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง พร้อมทั้งนัดวันที่จะนำเงินไปส่งคืน เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ เบี้ยวเอาเสียดื้อๆ ยักษ์วัดแจ้งเมื่อรอแล้วรอเล่าจนทนไม่ไหว

วัดโพธิ์ท่าเตียน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

จึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืนแต่ยักษ์วัดโพธิ์ไม่ยอมให้ ดังนั้น ในที่สุดยักษ์ทั้ง 2 ตนจึงเกิดการทะเลาะถึงขั้นต่อสู้กัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตมหึมาและมีกำลังมหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อต่อสู้กันจึงทำให้ต้นไม้ในบริเวณนั้นถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำจนล้มตายลงหมดหลังจากที่เลิกต่อสู้กันแล้วบริเวณที่ยักษ์ทั้งสองประลองกำลังกันนั้น จึงราบเรียบเป็นหน้ากลองกลายเป็นสถานที่ที่โล่งเตียนไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย ซึ่งตามตำนานเรื่องเล่าดังกล่าวยังสรุปไม่ได้ว่ายักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ ครั้นเมื่อพระอิศวร (พระศิวะ) ได้ทราบเรื่องราวการต่อสู้กัน ทำให้บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในบริเวณนั้นเดือดร้อน

จึงได้ลงโทษโดยการสาปให้ยักษ์ทั้ง ๒ กลายเป็นหิน แล้วให้ยักษ์วัดโพธิ์ ทำหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และให้ยักษ์วัดแจ้ง ทำหน้าที่ยืนเฝ้าพระวิหาร วัดแจ้งเรื่อยมาส่วนฤทธิ์จากการสู้รบของยักษ์ทั้งคู่ที่ทำชุมชนละแวกนี้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกว่า "ท่าเตียน" เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ 

หลายคน เข้าใจผิดคิดว่า "ลั่นถัน นายทวารบาล" หรือ ตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่ที่ยืนถือศาสตราวุธ เฝ้าซุ้มประตูเข้า-ออกในเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดรวม ๓๒ ตัวนั้น คือ ยักษ์วัดโพธิ์

แต่โดยแท้จริงแล้ว "ยักษ์วัดโพธิ์" มีเพียง 2 คู่ 4 ตนเท่านั้น คือ

1.ยักษ์กายสีแดง

2.ยักษ์กายสีเขียว

3.ยักษ์กายสีเทา

4.ยักษ์กายสีเนื้อ

ลั่นถัน นายทวารบาล ตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีน

ส่วน "ยักษ์วัดแจ้ง" มี 2 ตน คือ

1.ยักษ์ด้านเหนือกายสีขาว มีชื่อว่า "สหัสเดชะ"
2.ยักษ์ด้านใต้กายสีเขียว มีชื่อว่า "ทศกัณฐ์" ยืนเฝ้าที่ประตูซุ้มยอดมงกุฎทางเข้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม 

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : วิกิพีเดีย , TNEWS , watpho